วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๓๔ องค์ประกอบของอาขยาต - กาล

๓ กาล
            กาล คือ เวลาที่กิริยาอาการนั้น ๆ เกิดขึ้น มี ๓ อย่างคือกิริยาอาการที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน โดยทั่วไปใช้วิภัตติเป็นตัวกำหนดกาล เช่น ปโรกขาวิภัตติ เป็นตัวกำหนดกาลอันเป็นอดีต เป็นต้น.
         กาลแบ่งออกเป็น ๓ คือ

         ๑. ปัจจุบันกาล แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ
                 ๑.๑   ปัจจุบันแท้
                 ๑.๒  ปัจจุบันใกล้อดีต
                 ๑.๓  ปัจจุบันใกล้อนาคต
         ๒.  อดีตกาล แบ่งออกเป็น ๓ คือ
                 ๒.๑  อดีตกาลล่วงแล้วไม่มีกำหนด
                 ๒.๒  อดีตกาลล่วงแล้ววานนี้
                 ๒.๓  อดีตกาลล่วงแล้ววันนี้
         ๓.  อนาคตกาล แบ่งออกเป็น ๒ คือ
                 ๓.๑  อนาคตของอดีต
                 ๓.๒  อนาคตของปัจจุบัน
         จะกำหนดได้ว่า กิริยานี้เป็นกาลนั้นกาลนี้ ต้องอาศัยวิภัตติในอาขยาตเป็นเครื่องกำหนดจึงจะรู้ได้.
วิภัตติสำหรับบอกกาล
         ๑ ปัจจุบันกาลทั้ง ๓ คือ ปัจจุบันแท้, ปัจจุบันใกล้อดีต, ปัจจุบันใกล้อนาคต มีวิภัตติที่บอกกาลนี้ คือ วัตตมานาวิภัตติ มีคำแปลประจำกาลดังต่อไปนี้
         ๑.๑ ปัจจุบันแท้ แปลว่า ... อยู่ เช่น ภิกฺขุ ธมฺมํ เทเสติ อ. ภิกษุ แสดงอยู่ ซึ่งธรรม.
         ๑.๒ ปัจจุบันใกล้อดีต แปลว่า ย่อม... เช่น กุโต อาคจฺฉสิ อ. ท่าน ย่อมมา  แต่ที่ไหน.
         ๑.๓  ปัจจุบันใกล้อนาคต แปลว่า จะ ....  เช่น กึ กโรมิ เราจะกระทำ ซึ่งอะไร.
         ๒. อดีตกาลทั้ง ๓ มีวิภัตติสำหรับบอกกาลดังนี้
         ๒.๑ อดีตกาลล่วงแล้วไม่มีกำหนด แปลว่า แล้ว วิภัตติสำหรับบอกกาลนี้ คือ หมวดปโรกขา เช่น เตนาห ภควา เพราะเหตุนั้น อ. พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสแล้ว.  เตนาหุ โปราณา เพราะเหตุนั้น อ.พระโบราณาจารย์ ท. กล่าวแล้ว.
         ๒.๒  อดีตกาลล่วงแล้ววานนี้ แปลว่า .... แล้ว ถ้ามี อ อาคม อยู่หน้าธาตุ แปลว่า ได้ .. แล้ว วิภัตติสำหรับบอกกาลนี้ คือ หมวดหิยยัตตนี เช่น เอวํ อวจํ อ. เราได้กล่าวแล้ว อย่างนี้.
         ๒.๓  อดีตกาลล่วงแล้ววันนี้ แปลว่า ... แล้ว ถ้ามี อ อาคม อยู่หน้าธาตุ แปลว่า    ได้ ... แล้ว วิภัตติ สำหรับบอกกาลนี้ คือ หมวดอัชชัตตนี เช่น มา เอวํ กริ อ.ท่านอย่าทำแล้ว อย่างนี้. เอวรูปํ อกาสึ อ. เราได้กระทำแล้ว ซึ่งกรรมมีอย่างนี้เป็นรูป.
         ๓. อนาคตกาลทั้ง ๒ มีวิภัตติสำหรับบอก ดังนี้
         ๓.๑  อนาคตของปัจจุบัน แปลว่า จัก ... วิภัตติสำหรับบอกกาลนี้ คือ  หมวดภวิสสันติ เช่น ธมฺมํ สุณิสฺสาม อ.เรา จักฟัง ซึ่งธรรม .
         ๓.๒ อนาคตของอดีต แปลว่า จัก ... แล้ว ถ้ามี อ อาคม อยู่หน้า แปลว่า จัก .. ได้แล้ว วิภัตติสำหรับบอกกาลนี้ คือ หมวดกาลาติปัตติ เช่น โส เจ ยานํ ลภิสฺสา, อคจฺฉิสฺสา ถ้าว่า อ. เขา จักได้แล้วซึ่งยานไซร้, อ.เขา จักได้ไปแล้ว.
         วิภัตติ อีก ๒ หมวด คือ ปัญจมี และสัตตมี ไม่ได้บอกกาลอะไร บอกแต่ความเป็นไปของกิริยาอาการ ดังนี้
         หมวดปัญจมี
         ๑. บอกความบังคับ, คำสั่ง แปลว่า จง ... เช่น เอวํ วเทหิ อ. ท่านจงกล่าวอย่างนี้.
         ๒.  บอกความหวัง, ความปรารถนา แปลว่า ... เถิด เช่น สพฺเพ สตฺตา อเวรา    โหนฺตุ อ. สัตว์ ท. ทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีเวร เป็นเถิด.
         ๓.  บอกความอ้อนวอน, ขอร้อง แปลว่า ขอจง ... เช่น ปพฺพาเชถ มํ ภนฺเต ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อ. ท่าน ท. ยังข้าพเจ้า ขอจงให้บวช.
         หมวดสัตตมี
         ๑. บอกความยอมตาม แปลว่า ควร ... เช่น ภเชถ ปุริสุตฺตเม อ. บุคคล ควรคบ ซึ่ง บุรุษผู้ประเสริฐ ท.
         ๒.  บอกความกำหนด แปลว่า พึง ... เช่น ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา ถ้าว่า อ.บุรุษ พึงกระทำ ซึ่งบุญ ไซร้.
         ๓.  บอกความรำพึง แปลว่า พึง ... ยนฺนูนาหํ ปพฺพเชยฺยํ กระไรหนอ อ. เรา       พึงบวช.
****
ข้อกำหนดในตอนนี้
         ๑. กาลแบ่งเป็น ๔ ลักษณะใหญ่ ๆ คือ
         ๑) ปัจจุบันกาล ใช้ วัตตมานาวิภัตติ แปลว่า อยู่, ย่อม, จะ
         ๒) อดีตกาล ใช้ ปโรกขา อัชชัตตนี หิยยัตตนี  แปลว่า แล้ว
         ๓) อนาคตกาล ใช้ ภวิสสันตี แปลว่า จัก. ส่วนกาลาติปัตติ แปลว่า จัก ... แล้ว

         ๔) ไม่ปรากฏกาลใด เพราะไม่ระบุกาลแน่ชัด คือ ปัญจมี แปลว่า จง. สัตตมีวิภัตติ แปลว่า ควร. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น