วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๖. อักขรวิธี

บทที่ ๑ อักขรวิธี 
วิธีการแห่งตัวอักษร
         ไม่ว่าภาษาไหน ๆ ก็มีต้องมีตัวอักษรทั้งนั้น คำว่า อักษร ในที่นี้ ตรงกับบาลีว่า อกฺขร แปลว่า สิ่งที่ไม่แข็ง ก็ได้ หรือจะแปลว่า ของที่ไม่สิ้นไป ก็ได้ แล้วแต่ว่า อยากจะทำความเข้าใจในเง่ไหน.

๕. โครงสร้างของไวยากรณ์บาลี

โครงสร้างของไวยากรณ์บาลี
         ไม่ว่าจะต้องการความรู้ระดับไหน ๆ ก็ต้องศึกษากันทั้งนั้น. ก่อนอื่น ภาษาบาลีมีโครงสร้างทางไวยากรณ์ดังนี้
            ๑.อักขรวิธี วิธีการแห่งอักษร ว่าด้วยวิธีการเรียกชื่อและการใช้ตัวอักษร
              ๒.วจีวิภาค ส่วนแห่งคำพูด ว่าด้วยการแบ่งคำพูดที่เรียกว่า คำศัพท์ ในภาษาบาลี

๔. เรียนบาลีใช้เวลานานแค่ไหน

เรียนบาลีใช้เวลานานแค่ไหน
         เมื่อตัดสินใจและเชื่อมั่นแน่วแน่แล้วว่า จะเรียนบาลี ก็ลองมาถามตัวเองอีกครั้งว่า
         ๑. จะเรียนไปเพื่ออะไร
            ๒. จะไปเรียนที่ไหน
            ๓. จะต้องเริ่มเรียนที่ตรงไหน
            ๔. จะใช้เวลาเรียนนานสักแค่ไหน ถึงจะอ่านบาลีแล้วแปลเป็นไทยได้

๓. ก่อนจะเรียนบาลี

ก่อนจะเรียนบาลี
         เมื่อคิดจะเรียนบาลี สร้างความเชื่อมั่นในรูปแบบของภาษาก่อนว่า
         ๑. ภาษาบาลี เป็นภาษาที่มีระเบียบแบบแผน
         ๒. ภาษาบาลี เป็นภาษาที่มีความวิเศษอยู่ในตัว
         ๓. ภาษาบาลี เป็นภาษาที่เป็นสภาวนิรุตติ สื่อถึงพระธรรม
         อย่างไร ?

๒. บทนำ

บทนำ  : บาลี  ภาษาแห่งพระธรรม
         ในพระธรรม ๓ ประการ คือ พระปริยัตติธรรม พระปฏิบัติธรรมและพระปฏิเวธธรรม. และในพระธรรมทั้งสามประการนั้น พระปริยัตติธรรมย่อมเป็นพื้นฐานของพระธรรมอีก ๒ อย่างที่เหลือ. จะขอกล่าวอย่างรวบรัดทีเดียวว่า พระปริยัตติธรรมนั่นเองมีความเกี่ยวข้องกับภาษาบาลีโดยตรง ในแง่ที่ว่า เป็นธรรมที่ถูกสื่อออกมาโดยภาษาบาลีนี้. ส่วนพระปฏิบัติธรรมและพระปฏิเวธธรรม นับว่าเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากพระปริยัติธรรม.  เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงถือว่า ภาษาบาลีนี้ เป็นภาษาแห่งพระธรรม เพราะเป็นภาษาที่ใช้สื่อถึงพระธรรมทั้งสามประการ. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตัดสินใจเลือกใช้ภาษาบาลีให้เป็นภาษาแห่งพระธรรม เพราะเป็นภาษาที่เป็นกลาง ๆ ในการที่จะให้บุคคลทั่วไปในยุคนั้น ได้รับรสอมตธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ กันอย่างกว้างขวาง.

๑. ความในใจ

ความในใจ
             การศึกษาในวิชาการต่าง ๆ สิ่งที่นับว่าเป็นแรงกระตุ้นให้อยากศึกษาอย่างต้น ๆ คือ เรียนแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้มาไปใช้ให้ตรงกับวิชานั้นๆ. แม้พระธรรมทางพระพุทธศาสนาก็คงไม่พ้นจากกฏเกณฑ์นี้ ข้อสำคัญที่สุดในการศึกษาพระธรรม ได้แก่ นำพระธรรมไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์ในทุกระดับตั้งแต่ ทุกข์ คือ ความเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นต้น จนกระทั่งถึงชาติ ความเกิด อันเป็นที่มาแห่งทุกข์ทั้งปวง. 
              จริงอยู่ หากจะแบ่งกลุ่มผู้ศึกษาพระธรรม ในปัจจุบันนี้ ก็พอแบ่งออกตามความต้องการในการศึกษาได้หลายระดับ เช่น ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางที่ดีสำหรับชีวิตที่สมบูรณ์ในปัจจุบันภพ, ศึกษาเพื่อนำไปปฏิบัติธรรมชั้นสูง ๆ เช่น การเจริญสมาธิ วิปัสสนากัมมัฏฐาน, ศึกษาเพื่อรักษาพระพุทธศาสนาไว้ ประดุจขุนคลังผู้รักษาสมบัติของพระราชาไว้ฉะนั้น. ในบรรดากลุ่มผู้ศึกษาเหล่านี้ กลุ่มผู้ศึกษาเพื่อรักษาพระพุทธศาสนาไว้ ควรจะศึกษาพระธรรมจากคัมภีร์ต่างๆ มีพระไตรปิฎกและอรรถกถาโดยตรง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสอบสวนหลักธรรมที่ถูกต้องเมื่อได้ฟังเทศนาจากพระเถรานุเถระหรือนักปราชญ์ต่าง ๆ ว่า ขัดแย้งหรือถูกต้องกับหลักธรรมและหลักฐานที่มาหรือไม่อย่างไร หรือแม้กระทั่งเป็นการสอบสวนความรู้ของตนว่าจะมีความเข้าใจในนัยของเทศนาแค่ไหน. การศึกษาจากคัมภีร์โดยตรงแบบนี้ ย่อมให้ข้อมูลแก่ผู้ศึกษาอย่างตรงที่สุด เพราะประหนึ่งได้รับฟังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียว เพราะพระองค์ได้ฝากพระธรรมที่ปรากอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกว่าเป็นศาสดาของเหล่าพุทธบริษัทแทนพระองค์.
         แต่การศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกให้เข้าใจอย่างถูกต้องครบถ้วน มีความลี้ลับที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ สำนวนภาษาที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์นั้น ที่มักจะสร้างความท้อแท้ให้แก่ผู้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ที่ใช้ แม้มีรูปคำที่ตรงกับภาษาไทย แต่ก็มีความหมายที่เป็นตรงกันข้ามกันทีเดียวก็มี หรือแม้แต่สำนวนบางอย่าง ที่ไม่สามารถใช้สำนวนในภาษาไทยแสดงให้ไพเราะได้ จำต้องใช้สำนวนอย่างที่แปลออกจากประโยคต้นฉบับเท่านั้น. การศึกษาภาษาที่ใช้บันทึกพระพุทธวจนะในคัมภีร์นั้น จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขให้เกิดความกระจ่างขึ้น. หากผู้ศึกษามิได้ครอบครองกุญแจดอกนี้ไว้ ก็ยากที่จะเข้าไปสู่เนื้อหาสาระที่แอบแฝงอยู่ในคัมภีร์นั้นได้. การศึกษาเรื่องของภาษาจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ต้องการความถูกต้องของคำสอนอันหมดจดนั้น.
                ภาษาบาลี อันเป็นภาษาที่ใช้บันทึกพระไตรปิฏกและคัมภีร์บริวารเหล่านั้น แม้มีการศึกษากัน ก็แพร่หลายอยู่เฉพาะพระภิกษุสามเณรเท่านั้น สำหรับอุบาสก อุบาสิกา ผู้ใฝ่ธรรม แม้ประสงค์จะศึกษาเล่าเรียน ก็ใช่ว่าจะเป็นกิจอันพึงทำได้โดยง่าย เหตุว่า สถานที่ศึกษาและหลักสูตรที่เหมาะสมไม่มี. สถานที่ศึกษายังหาได้ไม่ยากนักเมื่อจะเทียบกับหลักสูตรที่ใช้. เพราะจะใช้หลักสูตรเดิมที่เคยใช้ศึกษากันนั้น ปรากฏว่า สถานภาพของผู้ศึกษา ที่ยังไม่สามารถละฆราวาสวิสัยได้เต็มตัวเหมือนอย่างบรรพชิต ไม่อาจศึกษาตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ที่ใช้วิธีการเรียนระบบไวยากรณ์ให้หมดทั้งสิ้นก่อนแล้วจึงจะมาเรียนรู้รูปประโยคที่ใช้ ต่อจากนั้นจึงเริ่มแปลคัมภีร์ต่าง ๆ แล้วจึงจะสามารถแต่งภาษาไทยเป็นภาษาบาลีได้. แม้การศึกษาแบบนี้ ก็ต้องใช้เวลาอยู่เนิ่นนานเพื่อทำความรู้ที่สมบูรณ์ให้เกิดแก่ตน.  แต่วิสัยของฆราวาสนั้น ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะมาเรียนและท่องจำระบบไวยากรณ์ทั้งหมดได้ก่อน แล้วจึงเรียนเป็นขั้นตอนแบบพระภิกษุสามเณรนั้น มักจะอาศัยเวลาว่างจากการประกอบอาชีพซึ่งมีเพียงไม่มากนัก มาศึกษากัน.
         เมื่อข้าพเจ้ามาหวนระลึกถึงตอนสมัยเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศภาษาแรก คือ ภาษาอังกฤษ คุณครูผู้สอน ก็จะสอนให้รู้จักคำศัพท์และประโยคในภาษาอังกฤษอย่างง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนก่อน แม้เด็กน้อยอย่างข้าพเจ้า ก็อาจสามารถรู้ภาษาอังกฤษได้เพียงชั่วสัปดาห์แรกของการเรียนทีเดียว. และจากการที่เรียนแล้วรู้เรื่องในเยาว์วัยนั้น ก็ทำให้มีความรู้สึกสนุกในการที่จะเรียนภาษาอังกฤษในกาลต่อมา. ครั้นได้อุปสมบท มีโอกาสศึกษาภาษาบาลี ก็ได้ศึกษาตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ วิธีการเรียนก็เปลี่ยนไป คือ ต้องเรียนรู้ระบบไวยากรณ์ทั้งหมดภายใน ๔ เดือน โดยไม่รู้จักรูปประโยคเลยแม้สักน้อย ต่อมาจึงเรียนพระคัมภีร์ธรรมบท โดยแปลตามหนังสือคู่มือที่แปลไว้แล้วนั้นอีก ๒ ปี โดยยังไม่มีความเข้าใจในการวางคำศัพท์นั้นในตำแหน่งต่าง ๆ ของประโยคเลย. เมื่อเรียนแปลคัมภีร์พระธรรมบทแล้ว จึงจะได้เรียนรู้วิธีการวางคำศัพท์ในประโยค. สรุปแล้วกว่าจะรู้เรื่องโครงสร้างของประโยคภาษาบาลีได้ ใช้เวลาเป็น ๔ ปีเป็นอย่างน้อย. เมื่อเทียบกับการเรียนภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศเหมือนกัน ใช้เวลาเพียงชั่วสัปดาห์ ก็สามารถเข้าใจในโครงสร้างของประโยคได้ แล้วเกิดความอุตสาหะในการเรียนได้. ความจริง ภาษาบาลีน่าจะสร้างศรัทธาและความเพียรได้ดีกว่าภาษาอังกฤษเป็นไหน ๆ เพราะเป็นภาษาที่สื่อถึงพระธรรมอันสร้างความเลื่อมใสและความเพียรได้โดยตรง แต่กลับสร้างความท้อแท้ให้แก่ผู้เรียน. เมื่อข้าพเจ้าได้มีโอกาสสอนแก่ผู้สนใจนั้น ครั้งแรก ๆ ก็ใช้ระบบของคณะสงฆ์นั่นเองเป็นแนวทางการสอน แต่ปรากฏว่า ไม่ได้ผลสักเท่าไร เนื่องจากว่า ผู้เรียนไม่มีเวลาที่จะท่องจำและกำหนดไวยากรณ์ได้ทั้งหมดก่อน ขณะที่เรียนมักไต่ถามปัญหาเป็นประจำว่า บทเช่นนี้ จะปรากฏอยู่ในตำแหน่งใด จะรู้ได้อย่างไรว่า บทนี้จะถูกใช้ในฐานะใด เป็นต้น เมื่อจะตอบปัญหา ก็ต้องนำโครงสร้างประโยคมาประกอบอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งแทนที่จะสร้างความเข้าใจ กลับสร้างความงุนงงเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ. บางท่านถึงกับท้อแท้จนเลิกเรียนไปเลยก็มี.
              ด้วยเหตุนี้เอง ข้าพเจ้าจึงคิดประยุกต์วิธีการเรียนภาษาบาลีแบบใหม่ โดยนำกฏเกณฑ์ของไวยากรณ์ทั้งหมดมาทยอยศึกษา พร้อมกับบอกรูปจริงเมื่อเวลาปรากฏอยู่ในประโยคต่าง ๆ ในคัมภีร์ธรรมบท เป็นต้น ทั้งนี้ ก็จะไม่ทิ้งระบบการสร้างรูปคำที่เกิดจากระบบไวยากรณ์ เพราะเป็นพื้นฐานในการสร้างรูปและเป็นเหตุผลที่อธิบายถึงรูปที่ปรากฏอยู่แล้วนั้น. อย่างไรก็ตาม มิใช่หมายความว่า ข้าพเจ้าจะล้มล้างระบบการเรียนบาลีดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นระบบที่ใช้ไม่ได้ โดยที่แท้แล้ว ระบบการเรียนแบบนี้เป็นมาตรฐานและเหมาะสมที่สุดในอันที่จะอำนวยประโยชน์แก่ผู้ศึกษาในภาวะที่พร้อมพรั่งด้วยเวลาและกำลังสติปัญญา แต่ไม่เหมาะสมกับฆราวาสผู้ขาดความพร้อมเช่นนั้น ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่อาจรับประกันได้ว่า จะได้ผลดีเท่ากับการเรียนแบบเดิม แต่เป็นเพียงอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น 
         แม้ว่าจะใช้วิธีการของการเรียนแบบภาษาอังกฤษ แต่ระบบการสร้างรูปคำในภาษาบาลีดูเหมือนจะแตกต่างกับภาษาอื่น ๆ นั่นก็คือ แต่ละบท ต้องมีส่วนประกอบย่อย ๆ อยู่อีกหลายประการ ไม่สามารถปรากฏอยู่แบบโดด ๆ ได้ ดังนั้น ผู้ศึกษาจำต้องรู้ถึงที่มาของคำศัพท์พวกนี้อีกด้วย. ข้อนี้นับเป็นความโดดเด่นของภาษาบาลีนี้ เพราะไม่จำเป็นจะต้องท่องจำคำศัพท์เป็นจำนวนมาก ๆ เพื่อการแต่งประโยคใหม่. เพียงแต่ท่องจำแบบที่เป็นตัวอย่างไว้เพียงไม่กี่ตัว ก็จะสามารถนำไปเทียบเคียงกับรูปศัพท์ที่ต้องการแล้วสร้างคำศัพท์ใหม่ขึ้นได้ทันที นอกจากนี้ ภาษาบาลี จัดเป็นภาษาที่นิ่งแล้ว คือ ไม่ได้นำมาใช้เป็นภาษาพูดอีก จะปรากฏเฉพาะในตำราพระไตรปิฏกเป็นต้นเท่านั้น เพราะเหตุนั้น ความเปลี่ยนแปลงของคำศัพท์จะมีอยู่ไม่มากนัก จึงเป็นการสะดวกในการจดจำกฏเกณฑ์ของภาษาได้เป็นอย่างดี.
         หนังสือคู่มือ บาลี :ภาษาแห่งพระธรรม เล่มนี้ ปรากฏขึ้นเพื่อเป็นคู่มือการศึกษาภาษาบาลีแนวใหม่ซึ่งเป็นเบื้องต้นเท่านั้น รายละเอียดของกฏเกณฑ์ต่าง ๆ จึงกล่าวไว้เป็นเพียงข้อสังเกตและโดยสังเขปเท่านั้น อีกทั้งยังผนวกแนวทางที่เป็นอัตตโนมติของข้าพเจ้าอยู่เป็นอย่างมาก โดยเหตุนี้ ผู้ศึกษาควรจะได้ศึกษาให้ละเอียดในตำราที่เป็นหลักมากกว่านี้ เช่น คัมภีร์สัททาวิเสสต่าง ๆ หนังสือแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ เป็นต้น และข้าพเจ้าได้หวังไว้ในใจว่า แนวทางเช่นนี้ คงพอจะช่วยบรรเทาความอึดอัดในการเรียนและขับไล่ความรู้สึกที่ว่า เรียนเท่าไร ก็ไม่รู้เรื่องสักที ขึ้นมาบ้าง.
         ข้าพเจ้าขออุทิศบุญกุศลอันจะพึงบังเกิดจากการรวบรวมเรียบเรียงหนังสือคู่มือนี้ ให้แด่บูรพาจารย์ในทางภาษาบาลีทุกท่านในสกลโลกนี้ เทอญ

ขออนุโมทนาในการศึกษาภาษาแห่งพระธรรม

สมภพ สงวนพานิช