วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๓๐ กริยาบท

๙ กริยาบท
            ธรรมดา คำนามทุกชนิด ที่เป็นชื่อเรียกบุคคล สัตว์ สถานที่ วัตถุต่าง ๆ เป็นต้นนั้น ย่อมแสดงอาการต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น คน ต้องมีการกิน, ดื่ม, ทำ, พูด คิด, ยืน, เดิน, นั่ง, นอน และพักผ่อนร่างกาย. แม้สัตว์ทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น. ฝ่ายสถานที่ และวัตถุต่าง ๆ นั้นเล่า ก็ย่อมมีการแสดงอาการเหมือนกัน เช่น ตั้งอยู่, มีสภาพอย่างไร ดังนี้เป็นต้น อาการเหล่านั้น เรียกว่า กิริยา. ส่วนคำพูดที่แสดงกิริยาอาการเหล่านั้น ตามหลักไวยากรณ์เรียกว่า คำกริยา หรือในที่นี้จะเรียกว่า กริยาบท เพราะคำกริยาที่สามารถนำไปใช้ในประโยคคำพูดได้นั้น ต้องประกอบเป็นบทโดยการลงวิภัตติและปัจจัย. ก็อะไร คือ คำกริยา อะไรคือ วิภัตติ และ ปัจจัย และมีการประกอบขึ้นใช้อย่างไรนั้น พึงทราบเนื้อความไปตามลำดับดังต่อไปนี้

         ก่อนอื่น พึงทราบว่า ลักษณะการประกอบบทหรือคำศัพท์ขึ้นใช้ในภาษาบาลีนั้น มีลักษณะที่แตกต่างจากภาษาอื่น ๆ มีภาษาไทยเป็นต้น นั่นก็คือ ต้องประกอบขึ้นด้วยส่วนต่าง ๆ อยู่มากมาย.  ดังที่ได้ศึกษาผ่านมาในเรื่องนามบทนั้น จะพบว่า นามบทๆ หนึ่ง นั้น เมื่อสำเร็จรูปขึ้นเป็นบท จะมีรูปอย่างน้อยที่สุด ๑๖ รูป ๘ ความหมาย. ซึ่งในบรรดา ๑๖ รูป ๘ ความหมายนั้น มิใช่ว่า แต่ละรูปจะปรากฏขึ้นได้โดยตัวของตัวเอง โดยที่แท้แล้ว ต้องมี นามศัพท์เดิม ที่มีลิงค์ และการันต์ต่าง ๆ พร้อมทั้งต้องประกอบด้วยวิภัตติ ที่แสดงถึงความหมายและวจนะ จึงจะปรากฏใช้ในประโยคต่าง ๆ ได้. แม้กริยาบท ก็เช่นเดียวกัน ก็จะมีส่วนต่าง ๆ ประกอบกันเข้าเช่นเดียวกับนามบทนั้น และแต่ละส่วนนั้น จะเป็นตัวชี้บอกถึงรูปแบบประโยคว่า จะเป็นไปในลักษณะใด ในบรรดาประโยค ๕ อย่าง มีกัตตุวาจกเป็นต้นนั้นอีกด้วย.
         กริยาบทโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ โดยการใช้และส่วนประกอบดังนี้
            ๑. โดยลักษณะการใช้ มี ๒ อย่าง คือ
         ๑) อนุกริยา จัดเป็นกริยาย่อย ไม่ใช่กริยาบทที่เป็นหลักของประโยค ใน ๑ ประโยคอาจมีกริยาแบบนี้มีอยู่หลายคำ เพื่อแบ่งส่วนแห่งประโยคออกเป็นตอน ๆ และมีข้อความยังไม่สิ้นสุดลงที่กริยาบทนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กริยาในระหว่าง (อัพภันตรกริยา).
         ๒) มุขยกริยา จัดเป็นกริยาหลักของประโยค ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดของแห่งบทประธานที่เป็นผู้กระทำกริยานั้น และใน ๑ ประโยคจะมีกริยาบทแบบนี้เพียงบทเดียวเท่านั้น เพื่อทำหน้าที่ควบคุมส่วนต่าง ๆ ของประโยคเข้าให้ไปในทางเดียวกัน และกำหนดข้อความให้สิ้นสุดลงที่กริยาบทนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กริยาคุมพากย์.
๒. โดยส่วนประกอบ มี ๓ อย่าง คือ
         ๑) กริยาอาขยาต ได้แก่ บทกริยาที่ประกอบขึ้นจากองค์ประกอบหลัก ๆ  ๓ อย่าง คือ ธาตุ ปัจจัย วิภัตติฝ่ายกริยาอาขยาต
         ๒) กริยากิตก์ ได้แก่ บทกริยาที่ประกอบขึ้นจากองค์ประกอบคล้าย ๆ กับกริยาอาขยาตนั้นเอง คือ มีธาตุ ปัจจัยในกิตก์ และวิภัตติฝ่ายนาม
         ๓) อัพยยกริยา ได้แก่ บทอัพยยะ บางศัพท์เท่านั้น ที่ไม่มีองค์ประกอบใด ๆ ร่วมด้วย คือ ตัวของศัพท์นั่นเองใช้เป็นกริยาได้ทันที ได้แก่ นิบาตบท คือ สกฺกา, ลพฺภา, อลํ และที่มีองค์ประกอบอย่างอื่นร่วมด้วย ได้แก่ กริยากิตก์นั่นเอง แต่มีลักษณะที่เป็นอัพยยะ.[1]
         บรรดากริยาบท ๓ ประเภทนี้สามารถใช้เป็นกริยาคุมพากย์ได้ ใช้เป็นกริยาในระหว่างได้ โดยแบ่งออกตามความสัมพันธ์กันดังนี้
         ๑) กริยาอาขยาต ใช้เป็นกริยาคุมพากย์ได้อย่างเดียว
         ๒) กริยากิตก์ ใช้เป็นกริยาในระหว่างได้ และเป็นกริยาคุมพากย์ได้
         ๓) อัพยยกริยา โดยเฉพาะ นิบาตบท มีสกฺกา เป็นต้น เท่านั้น ใช้เป็นกริยาคุมพากย์ได้อย่างเดียว
         และในกริยาบท ๓ ประเภทนั้น ล้วนสำเร็จมาจากธาตุ ที่จัดเป็นองค์ประกอบของกริยาอาขยาตทั้งนั้น ดังนั้น จึงควรศึกษาถึงกริยาอาขยาตเสียก่อน เพื่อจะได้ทราบถึงการกำหนดประโยคคำพูดให้ได้และเป็นพื้นฐานสำหรับกริยาชนิดอื่น ๆ.



[1] อัพยยะ ได้แก่ ศัพท์ที่ไม่สามารถนำไปจำแนกโดยวิภัตติไม่ได้ มีรูปและเนื้อความอย่างไร ก็ย่อมปรากฏอยู่อย่างนั้น แบ่งออกเป็น ๓ อย่าง คือ อุปสัคคบท นิบาตบท และปัจจยันตบท. ความโดยพิศดารจะปรากฏข้างหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น