วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๔๓ บทขยายกริยาที่เป็นทุติยาวิภัตติ - อวุตตกรรมและสัมปาปุณิยกรรม

อวุตตกรรม (ซึ่ง)
         ๑. บทที่ประกอบด้วยทุติยาวิภัตตินี้ ถ้าใช้เป็นบทกรรมอันเป็นสิ่งที่ถูกทำ ให้แปลว่า ซึ่ง มีชื่อเรียกบทกรรมขนิดนี้โดยเฉพาะว่า อวุตตกรรม แปลว่า กรรมที่ไม่ได้ถูกกริยาอาขยาตกล่าวโดยเป็นประธาน. [1]
         บทอวุตตกรรมนี้ จะใช้ประกอบเข้ากับบทกริยาที่ประกอบขึ้นจากสกรรมธาตุเท่านั้น จึงสามารถใช้เป็นบทขยายกริยาได้. จะใช้ขยายบทกริยาที่เป็นอกรรมธาตุไม่ได้เลย. เช่น
         พุทฺโธ ธมฺมํ เทเสติ.  พุทฺโธ อ.พระพุทธเจ้า เทเสติ  ย่อมทรงแสดง ธมฺมํ ซึ่งธรรม.
         จากประโยคนี้จะพบว่า บทว่า ธมฺมํ ศัพท์เดิมมาจาก ธมฺม ธรรม ปุงลิงค์ อ การันต์ ประกอบ อํ ทุติยาวิภัตติ ฝ่ายเอกวจนะ สำเร็จรูปเป็น ธมฺมํ ทำหน้าที่เป็นบทกรรมชนิดนี้ เพื่อขยายบทกริยาว่า เทเสติ ย่อมทรงแสดง ให้ได้ความสมบูรณ์ขึ้น สิ่งที่ทรงแสดงนั้น คือ ธรรม เพราะฉะนั้น บทว่า ธมฺมํ จึงเป็นบทกรรม.
         จะพบได้ว่า อวุตตกรรมนี้จะถูกวางอยู่หน้าบทกริยานั้น ในตำแหน่งที่ชิดกริยาที่สุดมากกว่าบทอื่น. พึงกำหนดแผนผังและอุทาหรณ์นี้ไว้
         บทประธาน + อวุตตกรรม (ซึ่ง) + บทกริยา เช่น พุทฺโธ ธมฺมํ เทเสติ.
         เวลาแปลให้ยึดหลักการแปลดังที่ผ่านมาว่า แปลบทประธานก่อน แล้วจึงแปลบท กริยา แล้วจึงแปลบทขยายกริยา ดังนั้น โดยนัยนี้ จึงแปลบทประธานว่า                           พุทฺโธ  อ.พระพุทธเจ้า.  แล้วแปลบทกริยาว่า เทเสติ ย่อมทรงแสดง. แล้วแปลบทอวุตตกรรมซึ่งเป็นกรรมในฐานะเป็นบทขยายกริยาว่า ธมฺมํ ซึ่งธรรม.
        
ประโยคบาลี
แปลเป็นไทย
ประธาน
บทกรรม
กริยา
ประธาน
กริยา
บทกรรม
ปุริสา
สุเร
ยชนฺติ
อ.บุรุษ ท.
ย่อมบูชา
ซึ่งเทวดา ท.
เถโร
สงฺฆํ
เนติ
อ.พระเถระ
ย่อมนำไป
ซึ่งสงฆ์
โลกธมฺมา
มทํ
ผุสนฺติ
อ.โลกธรรม ท.
ย่อมกระทบ
ซึ่งคนมัวเมา
โสโณ
ปายํ
ปีวติ
อ. สุนัข
ย่อมดื่ม
ซึ่งน้ำ

สัมปาปุณียกรรม (สู่)
         ๒. บททุติยาวิภัตติ ที่ใช้แสดงบทกรรมในฐานะเป็นสิ่งที่เข้าไปถึง เรียกว่า สัมปาปุณียกรรม ให้แปลว่า สู่.
         บทกรรมชนิดนี้ ให้สังเกตว่า ต้องประกอบกับธาตุที่มีความหมายไป เช่น คมุ ไป, กมุ ก้าวไป, วิส เข้าไป, นี นำไป, ปท ไป ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะตนมีความเป็นสิ่งที่เป็นที่เข้าไปถึงแห่งกริยานั้นนั่นเอง.
         อุทาหรณ์
         ปุริโส นครํ ปวิสติ  ปุริโส อ.บุรุษ ปวิสติ ย่อมเข้าไป นครํ สู่พระนคร.
         จากประโยคนี้ จะพบว่า บทว่า นครํ ประกอบด้วยทุติยาวิภัตติ โดยนัยก่อน ย่อมขยายบทกริยาว่า ปวิสติ ย่อมเข้าไป โดยฐานะที่เป็นสถานที่เข้าไปถึงแห่งกริยาและมี ปุริโส อ.บุรุษ เป็นกัตตา คือ เป็นเจ้าของกริยาอาการนั้นโดยฐานะที่เป็นผู้สามารถในการเข้าไปนั่นเอง. โปรดสังเกตให้ดีว่า คำว่า กัตตา นั้นไม่ได้แปลว่า ผู้ทำ เสมอไป ควรกำหนดความหมายให้กว้าง ๆไว้ ว่า กัตตา ได้แก่ ผู้สามารถในการทำกริยาให้สำเร็จ.
         ข้อที่ควรใส่ใจให้แม่นยำ
         เกี่ยวกับสัมปาปุณียกรรมนี้ ต้องใช้ร่วมกับกริยาอกัมมธาตุ ที่มีความหมายว่า ไปเท่านั้น เพราะกริยาการไป เพ่งถึงสิ่งที่ถูกเข้าไป ไม่ใช่สิ่งที่ถูกทำดุจอวุตตกรรม [2] และคำว่า สกัมมธาตุ ธาตุเรียกหากรรม ในคำว่า กริยาสกัมมธาตุนี้ หมายเอา อวุตตกรรมนี้เอง มิได้หมายเอาสัมปาปุณียกรรม เพราะฉะนั้น จึงควรระวัง เนื่องจากประกอบทุติยาวิภัตติเหมือนกันและถูกวางอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน คือ หน้ากริยา หากแปลสัมปาปุณียกรรมเป็นอวุตตกรรม คือ แปล สู่ มาเป็น ซึ่ง ก็จะทำให้รูปความหมายเสียได้.
         อย่างไรก็ดี เมื่อประสงค์จะใช้กับกริยาสกัมมธาตุ สัมปาปุณียกรรมนี้ ก็ให้แปลเป็นอวุตตกรรมได้ ในกรณีเช่นนี้ ธาตุนั้น แม้มีความหมายว่า ไป ซึ่งเป็นอกัมมธาตุ ต้องเปลี่ยนเป็นสกัมมธาตุ แล้วให้แปลความความหมายว่า ถึง มิได้ใช้ในความหมายว่า ไป เช่น คมุ แปลว่า ไป ถ้าหากจะให้เป็นสกัมมธาตุ ก็จะแปลว่า ถึง  โดยเพิ่มอุปสรรค [3] คือ อุป เข้าข้างหน้าเพื่อแปลงอกัมมธาตุเป็นสกัมมธาตุ เช่น
         ปาปโก นิรยํ คจฺฉติ อ. คนบาป ย่อมไป สู่นรก
            ปาปโก นิรยํ อุปคจฺฉติ อ. คนบาป ย่อมเข้าถึง ซึ่งนรก
         ๒ ประโยคที่กล่าวมานี้ มีความหมายเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่คำแปลของบทกรรมและกริยาเท่านั้น. แม้ว่าจะมีความเหมือนกันโดยความ แต่วิธีการประกอบคำที่ถูกต้องหลักไวยากรณ์ ย่อมสื่อถึงความเป็นผู้ฉลาดในการใช้ภาษานั่นเอง. [4]
         พึงกำหนดจดจำรูปแบบพร้อมตัวอย่างดังนี้
            บทประธาน + สัมปาปุณียกรรม (สู่) + บทกริยา เช่น ปุริโส นครํ ปวิสติ 
         ลองประกอบอุทาหรณ์อื่น ๆ ดังนี้

ประโยคบาลี
แปลเป็นไทย
ประธาน
บทกรรม
กริยา
ประธาน
กริยา
บทกรรม
อาจาริโย
เคหํ
คจฺฉติ
อ.อาจารย์
ย่อมไป
สู่เรือน
สิสฺสํ
สนฺติกํ
ปวิสนฺติ
อ.ศิษย์ ท.
ย่อมเข้าไป
สู่สำนักเรียน
อาสวา
ภเว
สวนฺติ
อ.อาสวะ ท.
ย่อมไหลไป
สู่ภพ ท.
โคปาลโก
ควํ นิลยํ
เนติ
อ.โคบาล
ย่อมนำไป
(ซึ่งโค) สู่คอก
วิโส
สรีรํ
สรติ
อ.พิษ
ย่อมแพร่ไป
สู่สรีระ

 ***********************





[1] อวุตตกรรม ท่านแบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ นิพพัตตนียกรรม กรรมที่ถูกทำให้เกิด สัมปาปุณียกรรม กรรมเป็นที่เกี่ยวกับกริยาว่าไป และวิกติกรรม กรรมที่ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น พึงทราบว่า ความหมายที่ปรากฏอย่างนี้เป็นเพียงอวุตตกรรมชนิดหนึ่ง. ความจริงควรเรียกว่า นิพพัตนียกรรม แต่ที่กล่าวอย่างนี้เพื่อคล้อยตามแบบเรียน.


[2] อวุตตกรรมในที่นี้ได้แก่ นิพพัตตนียกรรม กรรมที่ถูกทำให้เกิด อันเป็น ๑ ใน ๓ ของ อวุตตกรรม นั่นเอง เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า เมื่อกล่าวถึงอวุตตกรรมในทุกแห่งในหนังสือนี้ ก็หมายเอานิพพัตตนียกรรม
[3] บทอุปสรรค จัดเป็นบทอัพยยะ ชนิดหนึ่งในบรรดาบทอัพยยะทั้ง ๓. อุปสรรคสำหรับใช้ประกอบหน้าธาตุ ที่จะสำเร็จรูปเป็นบทกริยาอาขยาตหรือกริยานาม ก็ได้ เพื่อตกแต่งเนื้อความของธาตุให้มีการเปลี่ยนไปจากเดิม. และที่ปรากฏในอุทาหรณ์นี้นี้จัดว่าลงหน้า คมุ ธาตุ ที่เป็นกริยาอาขยาต แล้วมีทำให้ธาตุมีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เป็นอกัมมธาตุ เมื่อมี อุป ซึ่งเป็นอุปสรรคบทอยู่หน้า ก็จะกลายเป็นสกัมมธาตุ.
[4] ความจริง สัมปาปุณียกรรม ก็จัดเข้าในประเภทหนึ่งของอวุตตกรรม กรรมที่ไม่ถูกอาขยาตกล่าวถึง ๓ ประการ ดังที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไวยากรณ์ เพราะฉะนั้น การที่แนะนำให้แปลว่า ซึ่ง เข้ากับสกัมมธาตุ และ สู่ เข้ากับอกัมมธาตุ จึงคล้อยตามหลักการที่ปรากอยู่ในการใช้ในภาษาไทยเท่านั้น แต่ภาษาบาลี ท่านบอกว่า ไม่ได้ต่างกันเลยเพราะจัดเป็นกรรมประเภทเดียวกัน คือ เป็นสิ่งที่กริยามุ่งถึงเหมือนกัน. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น