วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๔๖ ข้อสังเกตบททุติยาวิภัตติ

ข้อสังเกต
         บททุติยาวิภัตติเหล่านี้ เมื่อพบเห็นในบางประโยค ก็จะปรากฏอยู่ถึง ๒-๓ บทด้วยกัน. ปัญหาอยู่ที่ว่า บทใด ควรจะแปลว่าอย่างไร. ข้อกำหนดเหล่านี้เป็นเกณฑ์กว้าง ๆ ในการตัดสินใจได้.
         ๑) บททุติยาวิภัตติ ถ้ามาตัวเดียวให้เรียงไว้หน้ากริยาที่ตนเกี่ยวข้องด้วย
         ประธาน + ซึ่ง + กริยา เช่น พุทฺโธ ธมฺมํ เทเสติ
         ประธาน + สู่ + กริยา เช่น ปุริโส นครํ ปวิสติ
         ประธาน + ยัง +กริยา เช่น สามิโก สูทํ ปจาเปติ
         ประธาน + สิ้น + กริยา เช่น อุปาสโก ทิวสํ นิสีทติ
            ประธาน + กะ + กริยา เช่น มาณโว สุคตํ วเทติ
         ประธาน + ให้เป็น + กริยา เช่น สุวณฺณกาโร (สุวณฺณํ) เกยูรํ กโรติ
         ประธาน + วิเสสนะ + กริยา เช่น ทารโก สุขํ เสติ
         ๒) บททุติยาวิภัตติ ถ้ามาหลายตัว โดยมากจะมาร่วมกันโดยนัยนี้เท่านั้น คือ
         ๑. อวุตตกรรม (ซึ่ง) ถ้ามาคู่กับ สัมปาปุณียกรรม (สู่) บทกริยา ต้องเป็นธาตุที่แสดงความหมายว่า ไป อวุตตกรรม ต้องอยู่ หน้า สัมปาปุณียกรรม ดังนี้
         ประธาน + ซึ่ง + สู่ + กริยา เช่น
         ภิกฺขุ อุปาสกํ เชตวนอารามํ เนติ. 
         แต่เวลาแปล ให้แปลบทประธานและกริยาก่อน (แม้ในอุทาหรณ์ที่เหลือก็แปลบทประธานและบทกริยาโดยนัยนี้) แล้วให้แปล ซึ่ง ก่อน สู่ ดังนี้
         อ.ภิกษุ ย่อมนำไป ซึ่งอุบาสก สู่วัดพระเชตวัน.
         ๒. อวุตตกรรม (ซึ่ง) ถ้ามาคู่กับ การิตกรรม (ยัง) ในเหตุกัตตุวาจก บทกริยาต้องเป็นธาตุชนิดที่เป็นสกัมมธาตุ การิตกรรม จะอยู่หน้า อวุตตกรรม ให้อยู่หลัง ติดกริยาที่สุด
         ประธาน + ยัง + ซึ่ง + กริยาที่เป็นเหตุกัตตุวาจก เช่น
         สามิโก สูทํ โอทนํ ปาจาเปติ
         เวลาแปล แปลบทประธานแล้ว แปล ยัง ก่อน แล้วแปลบทกริยาพร้อมสำเนียงการิตปัจจัย คือ ให้ แล้วแปล ซึ่ง ดังนี้
         อ. นาย ยังพ่อครัว ให้หุงอยู่ ซึ่งข้าวสุก.
         ๓. อวุตตกรรม (ซึ่ง) ถ้ามาคู่กับ อกถิตกรรม (กะ) บทกริยาต้องเป็นธาตุที่แสดงความหมายว่า กระทำกรรมด้วยกัน อกถิตกรรม จะอยู่หน้า อวุตตกรรม อยู่หลัง ดังนี้
         ประธาน + กะ + ซึ่ง + กริยา เช่น
         มาณโว สุคตํ ( ตํ ) กถํ วเทติ
      เวลาแปล แปลบทประธานแล้ว แปลบทกริยาแล้วแปล ซึ่ง ก่อน แปล กะ ทีหลัง คือ
         อ. มานพ ย่อมกราบทูล ซึ่งคำนั้น กะพระสุคต.
         ๔. อวุตตกรรม (ซึ่ง) ถ้ามาคู่กับ อัจจันตสังโยคะ (สิ้น) บทอัจจันตสังโยคะ จะเป็นบทที่เกี่ยวกับระยะเวลา และ ระยะทาง อัจจันตสังโยค อยู่หน้า อวุตตกรรม อยู่หลัง และกริยาจะต้องประกอบด้วยสกัมมธาตุ ดังนี้
         ประธาน + สิ้น + ซึ่ง + กริยา เช่น
         อุปาสโก เตมาสํ สีลํ รกฺขติ
         เวลาแปล ให้แปลบทประธานแล้วแปลบทกริยาแล้วแปล ซึ่ง แล้วแปล สิ้น
         อ.อุบาสก ย่อมรักษา ซึ่งศีล สิ้นสามเดือน.
         ๕. อวุตตกรรม (ซึ่ง) ถ้ามาร่วมกับ วิกติกรรม (ให้เป็น) บทกริยาต้องมาจากธาตุที่มีความหมายว่า กระทำ อวุตตกรรมจะอยู่หน้า วิกติกรรม จะอยู่หลัง
         ประธาน + ซึ่ง + ให้เป็น + กริยา เช่น
         สุวณฺณกาโร สุวณฺณํ เกยูรํ กโรติ
         เวลาแปล ให้แปลบทประธาน, แปลบทกริยา แล้วแปล ซึ่ง ก่อน แปล ให้เป็น ทีหลัง
         อ.นายช่างทอง ย่อมกระทำ ซึ่งทอง ให้เป็นกำไลแขน.
         ๖. อวุตตกรรม (ซึ่ง) ถ้ามาร่วมกับ กริยาวิเสสนะ ก็จะอยู่หน้า กริยาวิเสสนะ อยู่หลัง
         ประธาน + กริยาวิเสสนะ + ซึ่ง + กริยา เช่น
         อาจริโย เวทํ ปคุณ กเถติ.
         เวลาแปล ให้แปล บทประธานและกริยาก่อนแล้วแปล ซึ่ง ก่อน แปลวิเสสนะที่หลัง
         อ.อาจารย์ ย่อมบอก ซึ่งวิชา คล่องแคล่ว.
         ๗. โดยเฉพาะในเหตุกัตตุวาจก การิตกรรม ถ้ามีอวุตตกรรม, สัมปาปุณียกรรม, อกถิตกรรม, อัจจันตสังโยค, วิกติกรรม หรือ กริยาวิเสสนะ ตัวใดตัวหนึ่งร่วมด้วย หรือ มากกว่า ๒ ตัว การิตกรรม (ยัง) จะถูกเรียงไว้หน้าสุดของบทเหล่านี้ และบทที่เหลือก็เรียงไปตามลำดับที่กล่าวแล้วในข้อ ๑ - ๕ นั้น ดังนี้
         ประธาน + การิตกรรม (ยัง) + (สิ้น) + (ให้เป็น) + (กะ) + (ซึ่ง) + (สู่) + กริยา เช่น
         ราชา ญาตเก ทารกํ ราชเคหํ นยาเปติ.
         อ.พระราชา ยังญาติ ท. ย่อมให้นำไป ซึ่งเด็ก สู่พระราชวัง.
         สามิโก ทาสํ รตฺตึ กมฺมํ กโรติ
         อ.นาย ยังทาส ให้กระทำอยู่ ซึ่งการงาน สิ้นราตรี.
         อาจริโย สิสฺสํ ปาจริยํ เวทํ ปุจฺฉติ
         อ.อาจารย์ ยังศิษย์ ให้ถามอยู่ ซึ่งวิชา กะอาจารย์ใหญ่.
         ปุริโส กสฺสกํ  วีหึ สาลึ กโรติ
         อ.บุรุษ ยังชาวนา ให้กระทำอยู่ ซึ่งข้าวเปลือก ให้เป็นข้าวสาร.
         ภิกฺขุสงฺโฆ มหาชนํ ธมฺมํ นิจฺจํ สาเวติ.
         อ.พระภิกษุสงฆ์ ยังมหาชน ให้ฟังอยู่ ซึ่งธรรม ประจำ.

************

         หมายเหตุ รูปแบบที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ เป็นหลักการที่เป็นไปได้ตามหลักไวยากรณ์ แต่ในทางเป็นจริง ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือต่าง ๆ นั้น อาจจะเรียงบททุติยาวิภัตติไว้ไม่ครบตามที่แสดงไว้ก็ได้ ซึ่งโดยมากจะพบเพียง ๒ บทเท่านั้น. และประโยคเหล่านี้เป็นอุทาหรณ์ขั้นพื้นฐาน ในความเป็นจริง ประโยคที่สมบูรณ์นั้น จะประกอบไปด้วยส่วนขยายอีกมากมาย ซึ่งทำให้บททุติยาวิภัตติดูเหมือนจะไม่เรียงตามนี้ เพราะถูกบทอื่น ๆ เข้ามาแทรก เพื่อทำหน้าที่ขยายบทเหล่านี้ แต่ถ้าจับหลักเกณฑ์นี้ไว้ได้ แล้วลองวิเคราะห์บทต่าง ๆ ออกมา ก็จะพบว่า ไม่พ้นไปจากกฏเกณฑ์เหล่านี้เลย.


*********



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น