วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๒๗ อาธารบท (บทลงสัตตมีวิภัตติ)

๓. อาธารบท
         คำนามเดิมที่ประกอบด้วย สฺมึ หรือ สุ สัตตมีวิภัตติแล้วมีความหมายว่าเป็นสถานที่อยู่ภายใน (คือปิดบัง) , เป็นที่อาศัย, เป็นที่ปะปน, เป็นที่รองรับ หรือ เป็นที่ใกล้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อาธารบท.
อาธารบท
         คำว่า อาธาระ ได้แก่ ที่ตั้ง ดังคำจำกัดความย่อๆ ว่า อาธารียตี อสฺมินฺติ อาธาโร, อธิกรณํ. อ.กิริยา ย่อมตั้งอยู่ ในบทนี้ เหตุนั้น อ. บทนี้ ชื่อว่า อาธาระ ได้แก่ ที่ตั้ง. อธิบายได้ว่า เป็นที่ตั้งอยู่ของกิริยา คือ การนั่ง การมีอยู่ เป็นต้น แห่งนามบทที่เป็นบทประธาน ซึ่งถูกกล่าวในประโยคนั่นเอง. คำว่า ที่ตั้งอยู่ของกิริยาแห่งนามบท ได้แก่ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นสถานที่ตั้งของเจ้าของกิริยานั้นนั่นเอง เพราะแม้จะกล่าวพาดพิงสถานที่อาศัยว่า เป็นที่ตั้งของกิริยา ก็ย่อมเป็นอันหมายความไปถึงผู้เป็นเจ้าของกิริยา ผู้ที่อาศัยอยู่ นั่นเอง เพราะกิริยาย่อมตั้งอยู่ในผู้กระทำกิริยา ไม่ตั้งอยู่ในสิ่งอื่นๆ. จึงกล่าวได้โดยเป็นที่เข้าใจกันว่า เป็นที่ตั้งของนามบทนั่นเอง.

         อาธาร แบ่งออกเป็น ๕ อย่าง คือ
         ๑) ปฏิจฉันนาธาระ ที่ตั้งโดยเป็นที่ปกปิดไว้ตามปกติ คือ เป็นที่อิงแอบ
         ๒) วิสยาธาระ ที่ตั้งโดยเป็นที่อาศัย
         ๓) พยาปิกาธาระ ที่ตั้งโดยเป็นที่ซึมซาบปะปนไปทั่ว
         ๔) โอปสิเลสิกาธาระ ที่ตั้งโดยเป็นที่แนบชิด
         ๕) สมีปาธาระ ที่ตั้งโดยเป็นที่อยู่ใกล้ ๆ
         พึงทราบความหมายอาธาระแต่ละประเภทดังต่อไปนี้

ปฏิจฉันนาธาระ
         ปฏิจฉันนาธาระ มาจาก ปฏิจฉันนะ ปกปิด + อาธาระ ที่ตั้ง หมายถึง ที่ตั้งโดยเป็นที่ปกปิดไว้ เป็นที่กำบังไว้ หรือเก็บงำไว้มิดชิด ไม่ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดออกมาสู่ภายนอกได้ พึงเห็นตัวอย่างคำพูดในภาษาไทย เช่น เพชร ในตลับ คำว่า ในตลับ จัดเป็นสถานที่เก็บงำเพชรไว้อย่างดี เพราะไม่มีใครมองเห็นเพชรในตลับนั้นได้ จนกว่าจะเปิดตลับขึ้นมาจึงทราบได้ว่า ในตลับนั้นมีเพชรอยู่ ลักษณะการอยู่ในตลับแห่งเพชรเช่นนี้ ตรงกับลักษณะของอาธาระชนิดนี้. มาดูการประกอบคำในภาษาบาลีว่า กรณฺฑเก วชิโร (วชิโร) อ.เพชร  (กรณฺฑเก) ในตลับ กรณฺฑเก ในตลับ จัดเป็นปฏิจฉันนาธารบทของคำว่า วชิโร อ.เพชร เพราะประกอบด้วย สฺมึ สัตตมีวิภัตติ เพื่อแสดงความเป็นปฏิจฉันนาธารบท.  แม้ในอุทาหรณ์อื่น ๆ เช่น ถวิเก วีหิ อ. ข้าว ในกระสอบ ปิฏเก มํสํ อ. เนื้อ ในตะกร้า ก็มีนัยเช่นนี้. 
วิสยาธาระ
         วิสยาธาระ มาจาก วิสยะ ที่อยู่อาศัย, เขตแดน + อาธาระ ที่ตั้ง อาธาระ . คำว่า   วิสยะ มีคำจำกัดความย่อ ๆ ว่า วิเสเสน เสนฺติ ปวตฺตติ เอตฺถาติ วิสโย สถานที่เป็นที่เป็นไปโดยเฉพาะ หมายถึง เป็นที่ตั้งโดยเป็นเขตแดนหรือที่อยู่อาศัยประจำที่พิเศษเฉพาะตน ซึ่งไม่สามารถจะไปอยู่ในที่อื่นจากความเป็นปกติแห่งตนได้ เช่น ความในภาษาไทยว่า ปลาในน้ำ. คำว่า ในน้ำ จัดเป็นสถานที่อยู่เป็นพิเศษแห่งตน คือ ปลา เพราะธรรมดา ปลาจะมาอยู่บนบกไม่ได้. และโดยทำนองเดียวกัน คือ นก (ย่อมบินไป) ในท้องฟ้า. ท้องฟ้าย่อมเป็นสถานที่บินไปของนก เพราะนกจะบินไปในน้ำไม่ได้. แม้คำว่า เสือในป่า , ภรรยาที่บ้านของสามี (ใช้คำว่า ที่ แทนคำว่า ใน ก็ได้) คนรับใช้ที่เรือนนาย ก็โดยนัยนี้ นั่นก็คือ ป่านั่นเอง เป็นที่อยู่โดยพิเศษเฉพาะของเสือ, บ้านของสามีนั่นเอง เป็นที่อยู่เป็นพิเศษเฉพาะของภรรยา ซึ่งจะไปอยู่ที่บ้านของผู้อื่น ก็จะไม่ได้ชื่อว่า ภรรยา, เรือนนายนั่นเอง เป็นที่อยู่พิเศษของคนรับใช้ ดังนี้เป็นต้น อุทาหรณ์ดังกล่าวมานี้ ตรงกับวิสยาธาระในภาษาบาลี. เมื่อจะเปรียบเทียบกับภาษาบาลีก็จะได้ว่า ชเล มจฺฉา (มจฺฉา) อ.ปลา (ชเล) ในน้ำ ชเล เป็นวิสยาธาระ เพราะประกอบด้วยสัตตมีวิภัตติในความหมายนี้. แม้ในอุทาหรณ์ว่า อากาเส สกุณา (สกุณา) อ. นก ท. (อากาเส) ในท้องฟ้า. วเน พฺยคฺโฆ (พฺยคฺโฆ) อ. เสือ (วเน) ในป่า, ปติเคเห ภริยา (ภริยา) อ.ภรรยา (ปติเคเห ) ที่บ้านสามี,  นิเวสเน กมฺกโร (กมฺกโร) อ.คนรับใช้ (นิเวสเน) ที่เรือนนาย. บทว่า อากาเส, วเน, ปติเคเห, นิเวสเน จัดเป็นวิสยาธารบททั้งสิ้น เพราะเป็นที่อยู่เฉพาะเป็นพิเศษ.
         แม้การที่ตัดเอาเฉพาะส่วนที่ไม่ต้องการออกไป แม้จะเป็นที่อยู่อาศัยเหมือนกันก็ตามแล้วเลือกเอาเฉพาะที่ต้องการเท่านั้น ก็จัดเป็นวิสยาธาระในที่นี้ เช่น ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ความจริง เมื่อเลื่อมใส ย่อมเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทั้งหมดด้วยนั่นแหละ แต่ที่กล่าวเพียงในพระพุทธเจ้า ก็เพราะจะเจาะจงเอาพระพุทธเจ้าเท่านั้น ดังนั้น คำว่า ในพระพุทธเจ้า จึงเป็นสถานที่ที่เป็นเขตแดนอันเป็นที่เจาะจงเอา. หรือคำว่า  ความยินดีในบุญ. ธรรมดา ความยินดี เมื่อยินดี อาจเกิดในบุญ ก็ได้ บาป ก็ได้ แล้วแต่ความสั่งสมหรือการมีโยนิโสมนสิการ แต่เมื่อเจาะจงเอาคำว่า ในบุญ ก็เท่ากับเป็นการตัด ความยินดีในบาป ออกไป. คำว่า ในบุญ จึงเป็นเขตแดนที่เจาะจง. แม้ในคำว่า ผู้ฉลาดในพระวินัย, การทำดีในพระสงฆ์ ก็มีนัยเช่นนี้. เมื่อเทียบกับภาษาบาลีว่า พุทฺเธ ปสาโท (ปสาโท) อ. ความเลื่อมใส (พุทฺเธ) ในพระพุทธเจ้า, บทว่า พุทฺเธ จัดเป็นวิสยาธาระชนิดที่เจาะจงเอา. แม้ในคำว่า ปุญฺญสฺมึ รโม (รโม) อ.ความยินดี (ปุญฺญสฺมึ) ในบุญ. วินเย นิปุโณ (นิปุโณ) อ. ผู้ฉลาด (วินเย) ในพระวินัย, สงฺเฆ สาธุกาโร (สาธุกาโร) อ.การทำดี (สงฺเฆ)             ในพระสงฆ์ นี้ บทว่า ปุญฺญสฺมึ, วินเย, สงฺเฆ จัดเป็นวิสยาธารบท เพราะเป็นที่ๆ ต้องการมุ่งหมาย ดังนี้แล.
พยาปิกาธาระ
         พยาปิกาธาระ มาจากคำว่า พยาปิกะ แผ่ไป + อาธาระ ที่ตั้ง หมายถึง เป็นที่แผ่ไปซึมซับปะปนอยู่ทั่วองคาพยพ ดังคำจำกัดความย่อๆ ว่า พฺยาปนํ พฺยาโป, พฺยาโป ยตฺถ อตฺถีติ พฺยาปิโก ความแผ่ไป ชื่อว่า พยาปะ , วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งพยาปะนั้น ชื่อว่า พยาปิกะ. ที่ตั้ง คือ พยาปิกะ ชื่อว่า พยาปิกาธาระ. อธิบายได้ว่า วัตถุนั้น แผ่ซึมซาบปะปนทั่วทุกซอกทุกมุมหรือเพียงบางส่วนของที่ตั้ง กล่าวได้ทีเดียว่า สิ่งที่แผ่ไปและสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการแผ่ไป แทบจะเป็นส่วนเดียวกัน. พึงเห็นตัวอย่างพยาปิกาธาระในภาษาไทยว่า น้ำมันในเมล็ดงา, น้ำตาลในอ้อย, ความเผ็ดในเมล็ดพริก, น้ำในน้ำนม. ธรรมดา เมล็ดงา ย่อมมีน้ำมันซึม        ซาบอยู่ตลอดทั้งเมล็ด เมื่อเอาเมล็ดงามาเจียว หรือ คั้น หรือ ที่เรียกว่า กลั่น ก็ตาม ก็จะได้น้ำมันที่ซึมซับอยู่ในเมล็ดงานั้น ดังนั้น จึงเรียกเมล็ดงาว่า เป็นที่ซึมซาบอยู่แห่งน้ำมัน. แม้คำว่า ความหวานในอ้อย, ความเผ็ดในเมล็ดพริก ก็เช่นกัน เมื่อสกัดเอาน้ำตาลอันเป็นความหวานออกมาจากอ้อย อ้อย จึงถือว่าเป็นที่ซึมซับอยู่แห่งน้ำตาล, ความเผ็ดที่แฝงอยู่ในเมล็ดพริก ท่านเรียกว่า เป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง ดังนั้น เมื่อสกัดเอาสารเคมีที่มีความเผ็ดชนิดนั้นออกมาได้แล้ว เมล็ดพริกก็จัดเป็นที่ซึมซาบแห่งความเผ็ด. นี้เป็นตัวอย่างที่เป็นที่แผ่ไปทั่วทุกส่วน.  แม้การแผ่ไปไม่ทั่วทุกส่วน แต่ถ้าเป็นการซึมซาบโดยส่วนหนึ่งก็ตาม ก็ถือว่าเข้าเกณฑ์ของการซึมซาบด้วยกันทั้งสิ้น เช่น น้ำในน้ำนม ธรรมดา น้ำนม เมื่อปนอยู่ในน้ำ น้ำย่อมไม่สามารถซึมซับเอาไขมันที่เรียกว่านมได้ทั้งหมด สามารถแยกของเหลวออกจากกันได้ เนื่องจากน้ำและน้ำนมไม่สามารถระคนกันได้ทั้งหมด เพียงแต่ปนอยู่กันเป็นบางส่วนเท่านั้นเอง แต่ก็ถือว่าเป็นการซึมซาบของน้ำนมในน้ำนั่นแหละ จึงจัดเป็นเกณฑ์ของการซึมซาบเช่นกัน. เมื่อเอาอุทาหรณ์ดังกล่าวมากล่าวในภาษาบาลี ก็จะได้ว่า ติเลสุ เตลํ  (เตลํ) อ.น้ำมัน (ติเลสุ) ในเมล็ดงา ท.รสาเล มธุโร (มธุโร) อ.ความหวาน (รสาเล) ในอ้อย, มริเจ กฏุกํ (กฏุกํ) อ.ความเผ็ด (มริเจสุ) ในพริก ท. , ชเลสุ ขีรํ (ขีรํ) อ.น้ำนม              (ชเลสุ) ในน้ำ ท. , มหาสมุทฺเทสุ ชลํ (ชลํ ) อ.น้ำ (มหาสมุทฺเทสุในมหาสมุทร ท. เหล่านี้เป็นต้น บทที่จะเป็นพยาปิกาธารบทได้ ต้องประกอบด้วยสัตตมีวิภัตติ ดังในบทว่า ติเลสุ, รสาเล, มริเจ, ชเลสุ, มหาสมุทฺเทสุ ดังนี้แล.

โอปสิเลสิกาธาระ
         โอปสิเลสิกาธาระ มาจากคำว่า อุปะ ใกล้, ชิด + สิเลสิกะ มีการแนบชิด + อาธาระ ที่ตั้ง หมายถึง ที่ตั้งอันมีการแนบชิดใกล้ ดังคำจำกัดความย่อๆ ว่า อุปสิเลสนํ อลฺลียนํ  อุปสิเลโส, อุปสิเลโส ยตฺถ อตฺถีติ อุปสิเลสิกา. อุปสิเลสิสกาธาระ ได้แก่ อาธาระเป็นที่ตั้งแห่งการอยู่อย่างใกล้ชิด แนบติดกัน. การแนบติดกันในที่นี้ หมายถึง สิ่งนั้นเป็นที่รองรับกริยาอาการนั่ง วาง หรือผูกเป็นต้นของวัตถุอีกสิ่งหนึ่ง โดยอาการที่ติดสนิทกัน ไม่มีช่องว่างระหว่างกันเลย โดยเหนือตนบ้าง โดยรอบตนบ้าง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งบ้าง แต่ไม่ถึงกับซึมซับไปทั่วดุจพยาปิกาธาระนั้น. ดังอุทาหรณ์ในภาษาไทยว่า รถบนถนน หมวกบนศรีษะ แหวนที่นิ้ว เป็นต้น อาการที่ติดกันระหว่างรถกับถนนเป็นต้นนี้แหละ ไม่มีอะไรมาแทรกตรงกลางเป็นต้น ซึ่งต่างจากปฏิจฉันนาธาระ ที่หุ้มห่อ วัตถุวิสยาธาระ ที่เป็นที่อาศัยของวัตถุ พยาปิกาธาระ ที่เป็นที่ซึมซาบของวัตถุ. คำว่า รถ ก็ดี, ศรีษะ ก็ดี, ที่นี้ว นี่แหละจัดเป็นลักษณะของพยาปิกาธาระ เมื่อนำมาอุทาหรณ์เหล่านี้ มาแสดงเป็นภาษาบาลี ก็ได้ดังนี้. วีถิยํ รโถ, (รโถ) อ.รถ (วีถิยํ) บนถนน. สีเส สิโรโห (สิโรโห) อ.หมวก (สีเส) เหนือศรีษะ, องฺคุลิมฺหิ มุทฺทิกา (มุทฺทิกา) อ.แหวนธัมมรงค์ (องฺคุลิมฺหิ) ที่นิ้ว. บทว่า วีถิยํ, สีเส , องฺคุลิมฺหิ,  เหล่านี้แหละซึ่งประกอบด้วยสัตตมีวิภัตติ ก็จัดเป็นโอปสิเลสิกาธารบท ที่มีความหมายดังกล่าวมานี้.

สมีปาธาระ
         สมีปาธาระ มาจากคำว่า สมีปะ ใกล้ + อาธาระ ที่ตั้ง หมายถึง ที่ตั้งอันอยู่ใกล้ ๆ หมายความว่า วัตถุอันเป็นที่รองรับนั้นตั้งอยู่ใกล้กับสิ่งนั้น แต่ไม่ถึงกับติดกัน ดุจโอปสิเลสิกาธาระนั้น. พึงเห็นอุทาหรณ์ในภาษาไทยอย่างนี้ บ้านใกล้ประตูเมือง คำว่า ใกล้ประตูเมือง เป็นที่ตั้งอยู่โดยการคาดคะเนหรือเปรียบเทียบกำหนดว่า เป็นที่ใกล้เคียงกับสถานที่ที่คนรู้จักโดยทั่วไป สถานที่ที่คนรู้จักทั่วไปนั้น จึงกลายเป็นสถานที่ตั้งด้วย เพราะความเป็นจริง บ้านคงตั้งอยู่ในประตูเมืองไม่ได้ จะตั้งอยู่ก็บริเวณที่ใกล้กับประตูเมืองนั้นเท่านั้น ก็ประตูเมืองนี้ จัดเป็นสถานที่ ส่วนพื้นที่บริเวณใกล้ประตูเมือง จัดเป็นสถานทีใกล้ ซึ่งใช้กำหนดให้เป็นที่ตั้งของบ้าน นี้เป็นความในภาษาไทย เมื่อกล่าวคำว่า ใกล้ ก็ย่อมเป็นอันเข้าใจได้ชัดเจนทันทีว่า ไม่ใช่ที่ประตูเมือง. แต่ความในภาษาบาลีไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อประสงค์กล่าวความเช่นนี้ ต้องกล่าวในรูปคำศัพท์ว่า นครทฺวาเร คาโม (คาโม) อ.บ้าน (นครทฺวาเร) ใกล้ประตูเมือง. บทว่า นครทฺวาเร ประกอบสัตตมีวิภัตติที่ใช้ในความหมายเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งชนิดไหนก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจเข้าใจไขว้เขวในภาษาไทยได้ว่า  ในหรือที่ประตูเมืองก็ได้. แต่ความเป็นจริง ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะบ้านจะตั้งอยู่ตรงตำแหน่งที่ประตูตั้งไม่ได้. โดยเหตุนี้ คำว่า ที่ประตูเมือง จึงหมายเอาตำแหน่งที่อยู่บริเวณใกล้ ๆ ประตูเมือง. ความประสงค์เช่นนี้แหละ จึงเป็นอันกล่าวถึงสมีปาธาระ โดยอาศัยคำว่า นครทฺวาเร ประตูเมือง อันเป็นสถานที่ที่คนรู้จักกันโดยทั่วไปเสียก่อน และให้เข้าใจถึงความประสงค์ที่ตนต้องการ.

***

ประกอบสัตตมีวิภัตติเพื่อแสดงความเป็นอาธารบท
         คำนามเดิม เมื่อประกอบด้วยสัตตมีวิภัตติอันมีความหมายว่า เป็นที่ตั้ง อย่างนี้แล้ว ย่อมได้ชื่อว่า อาธารบท โดยนัยเดียวกับปฐมาวิภัตติและฉัฏฐีวิภัตตินั่นเอง.
         เนื่องจากบทที่ประกอบด้วย สฺมึ หรือ สุ สัตตมีวิภัตติในความเป็นที่ตั้ง หรือที่เรียกว่า อาธารบท นี้ มีอยู่ถึง ๕ ประการ จะขอสรุปสำเนียงอายตนิบาตหรือคำแปลประจำอาธารบทแต่ละประเภทนั้น ดังตารางดังนี้.

อาธารบท
คำแปล
อุทาหรณ์
คำแปล
สัมปฏิจฉันนาธาระ
ใน
ถวิเก วีหิ
ข้าว ในกระสอบ
วิสยาธาระ
ใน,ที่, ณ, เขต
นิเวสเน ภริยา
ภรรยา ที่บ้าน
พยาปิกาธาระ
ใน,ที่
ติเล เตลํ
น้ำมัน ในเมล็ดงา
โอปเลสิกาธาระ
บน,เหนือ, ที่
สีเส สีโรโห
หมวก บนศรีษะ
สมีปาธาระ
ใกล้, ณ,
นครทฺวาเร คาโม
บ้าน ใกล้ประตูเมือง
หมายเหตุ คำแปล อาจยักเยื้องแปลให้เหมาะสมกับความหมายในภาษาไทย

         อนึ่ง อาธารบททั้งหมดดังได้กล่าวมานี้ สามารถเป็นบทขยายกริยาได้ด้วย นักศึกษาพึงสังเกตดูว่า เนื้อความควรจะเชื่อมต่อกับกริยาบทหรือนามบท หรือทำให้บทใดมีความชัดเจนมากขึ้น. [1]
         ส่วนคำแปลและการใช้ในฐานะอย่างอื่นของสัตตมีวิภัตติ จะได้กล่าวอีกครั้งเมื่อถึงวาระที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ที่แปลว่า ครั้นเมื่อ เป็นอนาทรกิริยา เช่นเดียวกับ ฉัฏฐีวิภัตติ จะได้กล่าวในที่เดียวกัน. และที่แปลว่า ในเพราะ จัดเป็นเหตุ จะกล่าวเมื่อถึงตติยาวิภัตติและปัญจมีวิภัตติ.
         พึงประกอบรูปตามอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้
        
ปฏิจฉันนาธาระ
วิสยาธาระ
สมีปาธาระ
สมุคฺคมฺหิ
ในผอบ
คามสฺมึ
ในหมู่บ้าน
นิคมมฺหิ
ใกล้นิคม
รุกฺขสฺมึ
ในต้นไม้
อาโลกมฺหิ
ในแสงสว่าง
อาราเม
ใกล้วัด
สคฺเคสุ
ในสวรรค์ ท.
โลกสฺมึ
ในโลก
ตฬากสฺมึ
ใกล้บ่อน้ำ
ปิฏเก
ในตะกร้า
อมฺพสฺมึ
ในต้นมะม่วง
วเน
ใกล้(ราว)ป่า
คนฺเถสุ
ในหนังสือ ท.
สมุทฺเท
ในทะเล
ปพฺพตสฺมึ
ใกล้(เชิง)เขา
สรีเร
ในสรีระ
ถมฺภมฺหิ
ในเสา
อมฺพมฺหิ
ที่ต้นมะม่วง
โอปสิเลสิกาธาระ
พยาปิกาธาระ
ปีฐสฺมึ
บนเก้าอี้
อาคเมสุ
ในความรู้
ปาสาเณ
บนแผ่นกระดาน
โอเฆสุ
ในห้วงน้ำ
ตเล
เหนือพื้น
วิภวสฺมึ
ในทรัพย์สมบัติ
คีเว
ที่คอ
ปเย
ในน้ำ
ปนเส
บนต้นขนุน
สรีรสฺมึ
ในสรีระ
มญฺจเก
บนเตียง
ทีปมฺหิ
ในโคมไฟ

วิธีการเรียงและแปลอาธารบทกับบทประธาน  
         แม้วิธีการเรียงและอาธารบทนั้น ที่จะใช้เป็นบทขยายประธาน ให้ยึดหลักของการวางบทขยายประธาน เช่นเดียวกับวิเสสนบทและสัมพันธบท. พึงสังเกตตามอุทาหรณ์ดังตารางต่อไปนี้


ปฏิจฉันนาธาระ
อาธารบท
ประธาน
นำประกอบ
สมุคฺคมฺหิ
ในผอบ
สุวณฺโณ
อ.ทองคำ
สมุคฺคมฺหิ สุวณฺโณ
อ.ทองคำ ในผอบ
คนฺเถ
ในหนังสือ
สาโร
อ.สาระ
คนฺเถสุ สาโร
อ.สาระ ในหนังสือ
สรีเร
ในสรีระ
โรโค
อ.โรค
สรีเร โรโค
อ.โรค ในสรีระ
วิสยาธาระ
คามสฺมึ
ในหมู่บ้าน
ชโน
อ.ชน
คามสฺมึ ชโน
อ.ชน ในหมู่บ้าน
โลกสฺมึ
ในโลก
ปชฺโชโต
อ.ความรุ่งเรือง
โลกสฺมึ ปชฺโชโต
อ.ความรุ่งเรืองในโลก
สมุทฺเท
ในทะเล
อตฺโถ
อ.ทรัพย์
สมุทฺเท อตฺโถ
อ.ทรัพย์ ในทะเล
โอปสิเลสิกาธาระ
ปีฐสฺมึ
บนเก้าอี้
ปโฏ
อ.ท่อนผ้า
ปีฐสฺมึ ปโฏ
อ.ท่อนผ้า บนเก้าอี้
คีเว
ที่คอ
วชิโร
อ.เพชร
คีเว วชิโร
อ.เพชร ที่คอ
มญฺจเก
บนเตียง
พิมฺโพ
อ.หมอน
มญฺจเก พิมฺโพ
อ.หมอน บนเตียง
พยาปิกาธาระ
วิภเวสุ
ในทรัพย์ ท.
โลโภ
อ.โลภะ (อยาก)
วิภเวสุ โลโภ
อ.โลภะ ในทรัพย์ท.
ปเย
ในน้ำ
ชมฺพาโล
อ.โคลนตม
ปเย ปงฺโก
อ.โคลนตม ในน้ำ
ทีปมฺหิ
ในโคมไฟ
โอภาโส
อ.แสงสว่าง
ทีปมฺหิ โอภาโส
อ.แสงสว่าง ในโคมไฟ
สมีปาธาระ
อาราเม
ใกล้วัด
วิชฺชาลโย
อ.โรงเรียน
อาราเม วิชฺชาลโย
อ.โรงเรียน ใกล้วัด
ตฬากสฺมึ
ใกล้บ่อน้ำ
คุมฺโพ
อ.กอหญ้า
ตฬากสฺมึ คุมฺโพ
อ.กอหญ้า ใกล้บ่อน้ำ
ปพฺพตสฺมึ
ใกล้(เชิง)เขา
อุปหาโร
อ.การบูชา
ปพฺพตสฺมึ อุปหาโร
อ.การบูชา ใกล้ภูเขา


ศัพท์น่ารู้
สมุคฺค
ผอบ
สมุทฺท
ทะเล
นิคม
นิคม
รุกฺข
ต้นไม้
โอฆ
ห้วงน้ำ
อาราม
วัด
สคฺค
สวรรค์
วิภว
ทรัพย์สมบัติ
ตฬาก
บ่อน้ำ
เปฏก
ตะกร้า
มญฺจก
เตียง
วน
ป่า
คนฺถ
หนังสือ
ปย
น้ำ
ปพฺพต
เขา
สรีร
สรีระ
ปีฐ
เก้าอี้
ทีป
โคมไฟ
ปาสาณ
แผ่นกระดาน
ตล
พื้น
คีว
คอ
นายก
ผู้นำ
คณ
หมู่
คุมฺพ
กอหญ้า
ปท
บท
ยูถ
ฝูง
อุปหาร
การบูชา
ปตฺต
ใบ
นิกาย
นิกาย
โอภาส
แสงสว่าง
อาทีนว
โทษ
วิชฺชาลย
โรงเรียน
ชมฺพาล
โคลนตม
มูล
ราก
สุวณฺณ
ทองคำ
กลฺโลล
คลื่นยักษ์
สาร
แก่น , เรื่อง
รุกฺข
ต้นไม้
สิเนห
ยาง
อุทร
ท้อง
โกฏฐ
ลำไส้
อณฺฑ
ไข่
โรค
โรค
อาหาร
สารอาหาร
นิคม
นิคม
สมุทฺท
ทะเล
ตล
พื้น
วน
ป่า

ข้อควรกำหนดในตอนนี้
         ๑) นามบทที่มีสัตตมีวิภัตติ คือ บทที่มีประกอบด้วย สฺมึ และ สุ วิภัตติ ที่แปลว่า ใน, ใกล้, ที่ เรียกว่า อาธารบท เพราะเป็นที่ตั้งของบทอื่น
         ๒) อาธารบท คือ บทที่มีสัตตมีวิภัตติ มี ๕อย่าง คือ
                 ๑) ปฏิจฉันนาธาระ ที่ตั้งโดยเป็นที่ปกปิดกำบังไว้
                 ๒) วิสยาธาระ ที่ตั้งโดยเป็นที่อาศัย
                 ๓) โอปสิเลสิกาธาระ ที่ตั้งโดยเป็นที่แนบชิดติดกัน
                 ๔) สมีปาธาระ ที่ตั้งโดยกล่าวถึงสิ่งที่ใกล้กับสิ่งที่กล่าวถึง
                 ๕) พยาปิกาธาระ ที่ตั้งโดยเป็นที่ซึมซาบไปทั้งสิ้นหรือโดยส่วนหนึ่ง
         ๓) เวลาเรียงอาธารบท ให้เรียงไว้หน้าบทประธาน เช่นเดียวกับวิเสสนบท และสัมพันธบท แต่เวลาแปล ให้แปลบทประธานที่ประกอบด้วยปฐมาวิภัตติก่อน.

*****

ข้อกำหนดพิเศษ  
         ถ้ามีบทขยายประธานร่วมกันถึง ๒ หรือ ๓ บท เช่น มีทั้งวิเสสนบทและสัมพันธบทหรืออาธารบท หรือ มีทั้งวิเสสนบท, สัมพันธบทและอาธารบท ให้เรียงวิเสสนบทอยู่ชิดประธานมากที่สุด แล้วเรียงอาธาระบท สัมพันธบท [2]เป็นลำดับต่อจากนั้น  แต่เวลาแปล ให้แปลปฐมาวิภัตติก่อน จึงแปลวิเสสนบท, อาธารบท, สัมพันธบท เช่น
         ๑) ที่มีวิเสสนบทและสัมพันธบท เช่น โลกสฺส นาโถ พุทฺโธ. อ. พระพุทธเจ้า ผู้ที่พึ่ง              แห่งโลก
         ๒) ที่มีวิเสสนบทและอาธารบท เช่น ธมฺเม อจโล ปสาโท อ.ความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหว ในพระธรรม.
         ๔) ที่มีทั้งอาธารบทและสัมพันธบท เช่น ปุริสสฺส อุทเร โรโค อ. โรค ในท้อง                  ของบุรุษ
         ๕) ที่มีทั้ง ๓ บท  เช่น รุกฺขสฺส สุสิเร กณฺโห สปฺโป  อ. งู ตัวสีดำ ในโพรง                แห่งต้นไม้.

******





[1] ความเป็นจริงแล้ว ถ้ากล่าวตามหลักของคัมภีร์ไวยากรณ์ทั่วไป อาธารบท ต้องเป็นบทขยายกริยาเท่านั้น เพราะเป็นบทที่ให้กริยานั้นสำเร็จลงได้โดยเป็นที่ตั้งของกริยา. แต่ที่ในหลักไวยากรณ์ที่นำมาใช้ศึกษากันนี้ ท่านกล่าวว่า สามารถใช้เป็นบทที่เนื่องด้วยนามบทก็ได้ เรียกว่า ภินนาธาระ หมายถึง เป็นอาธาระที่แตกต่างกับกริยา แต่ถ้าเป็นบทขยายกริยา จึงจะเรียกว่า อาธาระ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งบทกริยาโดยตรง หมายความว่า กริยาบทเท่านั้น จึงมีความเกี่ยวข้องกับนามบทที่ลงสัตตมีวิภัตติในอรรถอาธาระ. ส่วนนามบทที่เนื่องอยู่กับอาธารบทนั้น ไม่ใช่โดยตรง แต่เป็นการกล่าวโดยอ้อม หรือที่เรียกว่า เป็นสำนวนชวนต้องให้คิดต่อไปว่า ปกติ กริยาจะปราศจากนามบทนั้นไม่มี หรือนามบทจะปราศจากกริยา ก็ไม่มีเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อกล่าวถึงกริยาย่อมเป็นอันกล่าวถึงนามบทได้นั่นแล.  แต่ในคัมภีร์ไวยากรณ์ ท่านเจาะจงเอาว่า ต้องขยายกริยาบทเท่านั้น โดยเป็นอาธาระ ที่ตั้ง ดังนั้น ที่แสดงไว้โดยไม่มีนามบท พึงทราบว่า ต้องเพิ่มกริยาบทเข้ามาทุกครั้ง ทั้งนี้ โดยยึดคติที่ว่า ประโยคที่ปราศจากกริยาย่อมไม่มี ดังนั้น เมื่อกล่าวว่า ติเลสุ เตลํ น้ำมันในเมล็ดงา ต้องเพิ่มคำว่า ตั้งอยู่ (ติฏฺฐติ) เข้ามาเป็น ติเลสุ เตลํ ติฏฺฐติ น้ำมัน ตั้งอยู่ ในเมล็ดงา โดยให้บทว่า ติเลสุ เป็นบทที่ขยายบทว่า ติฏฺฐติ ตั้งอยู่ นั่นเอง.
[2] อย่างไรก็ตาม ลักษณะของการวางตำแหน่งของสัมพันธบทและอาธารบท ดังกล่าวมานี้ ไม่ใช่ข้อกำหนดแน่นอน เพราะยังต้องยึดหลักว่า ถ้าเป็นคำขยายของบทใด ให้วางไว้หน้าบทหน้า ดังนั้น ที่กล่าวนี้ ให้ทราบว่า ถ้าอาธารบทอยู่หน้าบทประธานเท่ากับเป็นบทขยายของประธาน แต่ถ้าอยู่หน้าสัมพันธบท ก็เป็นบทขยายของสัมพันธบท. แม้ในสัมพันธบทก็มีนัยเช่นนี้. ส่วนวิเสสนบท มีข้อกำหนดตายตัว เพราะประกอบด้วยวจนะและวิภัตติเดียวกันอยู่แล้ว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น