วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๒๙ ภาคกริยาของประโยค

บทที่ ๓ ภาคกริยาของประโยค
            ในบทที่แล้ว เราได้เรียนรู้คำศัพท์ต่าง ๆ ที่ประกอบกับวิภัตติเป็นบทและการนำบทเหล่านี้ มาเชื่อมกัน โดยใช้วิภัตติซึ่งมีอายตนิบาตต่าง ๆ เป็นตัวเชื่อม. ก่อนอื่น พึงทราบทางมาแห่งคำพูดในภาษาบาลีเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย
         ๑) นามศัพท์เดิม อันยังมิได้ประกอบกับวิภัตติฝ่ายนาม เรียกว่า ศัพท์ (หรือที่เรียกว่า ลิงค์). และ กริยาศัพท์เดิม ที่ยังมิได้ประกอบวิภัตติฝ่ายกริยา เรียกว่า ธาตุ (จะได้เรียนกันในบทนี้). ทั้งศัพท์และธาตุ ที่เว้นจากวิภัตตินี้แหละ มีแต่เพียงความหมายเดิมของตน ไม่สามารถนำประกอบกับบทอื่น ๆ ใด ได้
         ๒) ศัพท์หรือธาตุเหล่านั้น เมื่อประกอบวิภัตติแล้ว เรียกว่า บท โดยกำหนดตามวิภัตตินาม และวิภัตติกริยา นับศัพท์ที่มีวิภัตติแล้วเป็น ๑ บท ๆ เช่น ปุริโส อ. บุรุษ เป็นบทหนึ่ง นคเร ในเมือง เป็นบทหนึ่ง ภวติ ย่อมมี เป็นบทหนึ่ง. ก็บทเหล่านี้ ลำพังแต่ตนเอง หากไม่มีบทอื่นมาประกอบ ไม่สามารถสื่อให้เข้าใจความหมายได้.
         ๓) หลายบทผสมให้เป็นใจความได้ ไม่เต็มที่ ยังเป็นตอน ๆ เรียกว่า พากยางค์ มี ๓ อย่าง คือ
                 ๑)  นามพากยางค์ ได้แก่ พากยางค์ที่มีบทประธานและมีบทเนื่องด้วยหรือขยายประธานเป็นคำนามด้วยกัน แต่ประกอบด้วยวิภัตติอื่น ๆ มีฉัฏฐีวิภัตติ ที่เป็นสัมพันธบท และ สัตตมีวิภัตติ ที่เป็นอาธารบท เป็นต้น เช่น นคเร ปุริโส อ. บุรุษ ในเมือง, นครสฺส ทฺวาโร อ.ประตู ของเมือง เป็นต้น
                 ๒)  คุณพากยางค์ ได้แก่ พากยางค์ที่มีบทขยายประธานเป็นวิเสสนบท ซึ่งมี ลิงค์ วจนะ และวิภัตติเดียวกัน เช่น ปิโย ปุริโส อ.บุรุษ ผู้ที่รัก, อายาโม ทฺวาโร อ.ประตู   ที่กว้าง เป็นต้น
                 ๓)  กริยาพากยางค์ ได้แก่ พากยางค์ที่มีกริยาย่อยเป็นบทขยายประธาน เพื่อบอกให้ทราบว่า ประธานทำอย่างไร ซึ่งยังไม่จบประโยค (ได้แก่ กริยากิตก์ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ตอนนี้อย่าเพิ่งใส่ใจมากนัก ความจะกระจ่างเมื่อได้เรียนถึงกริยากิตก์) เช่น ปุริโส คจฺฉมาโน  อ.บุรุษ ไปอยู่, ทฺวาโร ฐตฺวา อ. ประตู ตั้งแล้ว. เป็นต้น
         พากยางค์ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นตอนหนึ่ง หรือ เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่ง ของประโยค (ประโยค เรียกว่า วากยะ หรือ พากย์ ในที่นี้).  และที่เรียกในบทที่ ๒ นั้นว่า ประโยคลิงคัตถะ หมายเอา พากยางค์ประเภทที่ ๑ และ ประเภทที่ ๒ เพราะกระแสความของประโยคสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้เอง แม้ไม่มีกริยาบท ก็สามารถได้ใจความสมบูรณ์ จึงมีค่าเท่ากับเป็นประโยค ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกว่า ประโยคลิงคัตถะ ตามชื่อของบทประธานที่มืชื่อว่า ลิงคัตถะนั่นเอง.
         ส่วนประเภทที่ ๓ ไม่จัดเป็นประโยคลิงคัตถะ เพราะแม้มีกริยาบท แต่กระแสความยังไม่สิ้นสุดลงแค่ตรงนี้ ต้องมีกริยาบทอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า อาขยาต มาแสดง จึงจะได้ใจความสมบูรณ์ และเป็นการจบกระแสความของประโยค และพ้นจากสภาพความเป็น   พากยางค์ แล้วเข้าสู่ความเป็นวากยะ หรือ พากย์ ซึ่งจะได้แสดงไว้ในบทที่ ๓
         ๔) หลายบทหรือหลายพากยางค์ ผสมให้เป็นใจความได้เต็มที่ เรียกว่า พากย์ หรือ ประโยค  ทั้งนี้ต้องให้ได้ความหมายเต็มที่ ตามวิธีของไวยากรณ์ คือ มีประธาน และกริยาคุมพากย์ คือ กริยาที่สามารถจบความของประโยคได้ สามารถบอกถึงบทประธานให้สอดคล้องกับตนได้ และตามประเภทของประโยคนั้น มีกัตตุวาจกเป็นต้น (กริยาบทพวกนี้ โดยมากเป็นกริยาอาขยาต ที่จะได้ศึกษากันในบทนี้) เช่น ปุริโส คจฺฉติ อ.บุรุษ ย่อมไป.  ทฺวาโร ปติฏฺฐติ อ.ประตู ย่อมตั้งอยู่ เป็นต้น
         จากองค์ประกอบของคำพูดที่จะรวมกันเข้าเป็นประโยคที่สมบูรณ์ได้ ก็ต้องประกอบไปด้วย ๒ ส่วน คือ บทประธาน และ บทกริยา โดยเฉพาะที่เป็นกริยาคุมพากย์นั่นเอง. เพราะมีเพียงบทประธาน แต่ไม่มีบทกริยาคุมพากย์ ก็ยังได้ใจความไม่สมบูรณ์นัก แม้ว่า เนื้อความจะสิ้นสุดลงตรงที่บทขยายประธานก็ตาม.
         ต่อจากนี้ เราจะได้ศึกษาถึงกริยาบท อันเป็นโครงสร้างที่สำคัญยิ่งแห่งประโยคคำพูด อันจะนำมาซึ่งความเข้าใจ และเสริมทักษะในภาษาบาลี ทั้งในด้านการแปล และ การแต่งประโยค

 *********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น