วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๓๕ องค์ประกอบของอาขยาต - บท

๔. บท
         บท หมายถึง เป็นเหตุให้รู้บทที่เป็นเจ้าของกิริยา. ในวิภัตติทั้ง ๘ หมวดนั้น แต่ละหมวดแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ

         ๑. ปรัสสบท บทเพื่อผู้อื่น  หรือเป็นเหตุให้รู้ผู้อื่น คือ บทที่เป็นเจ้าของกิริยานั้นเป็นผ้อื่นที่มาแสดงกิริยาอาการนั้นเอง. เช่น ปุริโส คจฺฉติ บุรุษ ย่อมเดินไป คจฺฉติ ประกอบด้วย ติ วัตตมานาวิภัตติ ฝ่ายปรัสสบท ซึ่งบ่งถึงผู้อื่น อันเป็นเจ้าของกิริยาอาการ.  กิริยาอาการเดิน เป็นของ ปุริโส ไม่ใช่ของ ติ ดังนั้น ปรัสสบท คือ ติ จึงบ่งถึง หรือเป็นเหตุให้รู้คนอื่น.
         หรืออีกนัยหนึ่ง ได้แก่ กิริยาอาขยาตที่ประกอบด้วยวิภัตติอันเป็นกิริยาของประธานซึ่งส่งผลแก่ผู้อื่น เช่น ชโน พุทฺธํ วนฺทติ. อ. ชน ย่อมไหว้ ซึ่งพระพุทธเจ้า.  ชโน เป็นประธานของ วนฺทติ ทำกิริยา คือ ไหว้ ซึ่งส่งผลต่อ พุทฺธํ พระพุทธเจ้า อันเป็นผู้ถูกไหว้.
         ๒. อัตตโนบท บทเพื่อตน เป็นเหตุให้รู้ตนเอง คือ บทที่เป็นเจ้าของกิริยาอาการนั้นเป็นของตนเอง เช่น สูเทน โอทโน ปจิยเต อ.ข้าวสุก อันพ่อครัว หุงอยู่ ประกอบ เต วัตตมานาวิภัตติ อัตตโนบท.  เต บ่งถึงตัวเอง คือ โอทโน กริยาอาการที่สุกเป็นของตนเอง ไม่บ่งถึง สูเทน ซึ่งเป็นคนอื่น แต่บ่งถึง โอทโน ข้าวสุก ซึ่งสุกเอง
         หรืออีกนัยหนึ่ง ได้แก่ กิริยาอาขยาตที่ประกอบด้วยวิภัตติอันเป็นของประธานที่ส่งผลแก่ตัวประธานเอง เช่น กุมาโร ชเนน ปหริยเต เด็ก อันชน ย่อมตี กุมาโร เป็นประธานของกริยาว่า ปหริยเต เป็นผู้ถูกตี .
บทกับวาจก
         บทเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งถึงวาจกของกิริยาอาขยาต โดยแบ่งใช้บทในวาจกต่าง ๆ ดังนี้
         ๑. ปรัสสบท เป็นบทที่ใช้สำหรับเน้นกัตตุหรือตัวผู้ทำกิริยา ซึ่งเป็นคำที่ไม่ใช่ตัวกิริยาเอง ดังนั้น ปรัสสบทจึงใช้กับคำกิริยาที่เน้นผู้ทำเป็นประธาน เรียกว่า กัตตุวาจก .
         ๒. อัตตโนบท เป็นบทที่ใช้สำหรับเน้นกรรมหรือตัวผ้ถูกทำเป็นประธาน ซึ่งบทกริยานั้นเป็นความหมายของตัวมันเอง ดังนั้น อัตตโนบทจึงใช้กับคำกิริยาที่เน้นผู้ถูกกระทำเป็นประธาน ที่เรียกว่า กัมมวาจก.     และคำกิริยาที่แสดงกิริยาอาการ ที่เรียกว่า ภาววาจก .

         ข้อกำหนดในตอนนี้
         ๑. บทมี ๒ คือ ปรัสสบทและอัตตโนบท
         ๒. ปรัสสบทใช้กับกัตตุวาจก, อัตตโนบทใช้กับกัมมวาจกและภาววาจก. ฝ่ายปรัสสบทและอัตตโนบทนั้น สามารถใช้แทนกันได้ แต่ก็มักใช้ฝ่ายปรัสสบทเป็นส่วนใหญ่.


******

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น