วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๔๑ บทขยายกริยา

บทที่ ๔ บทขยายกริยา
         บทประธานมีบทขยายเพื่อให้สมบูรณ์ขึ้นโดยประการใด แม้บทกริยา จำต้องมีบทอื่นมาเกี่ยวข้องเพื่อทำให้มีความสมบูรณ์ชัดเจนขึ้น โดยประการนั้นเช่นกัน. บัดนี้ บทขยายกริยามีลักษณะเช่นใด มีกี่ประเภท จะปรากฏอยู่ในตำแหน่งใดของประโยค จะได้ชี้แจงสาระสำคัญเหล่านี้ เพื่อความแจ่มแจ้งในบทกริยานั้น.


๑๐ บทขยายกริยา
- ลักษณะของบทขยายกริยา
            บทขยายกริยา คือ บทที่ทำให้กริยาบทให้กว้างขวางชัดเจนขึ้นเต็มเนื้อความที่ประสงค์ของผู้กล่าวนั่นเอง. บทขยายกริยานี้ ได้แก่ นามบท ที่ประกอบไปด้วยวิภัตติต่าง ๆ ทั้ง ๗ รวมถึงปฐมาวิภัตติ [1] นั่นเอง แต่มีลักษณะที่มุ่งขยายบทกริยา โดยมีความเกี่ยวข้องกันทางหน้าที่อันวิภัตติเหล่านั้นแสดงไว้
- ประเภทของบทขยายกริยา
         ๑. บทขยายกริยา ที่เป็นบทนามนาม มีอยู่ ๔ ประเภท คือ
         ๑). นามบทที่ประกอบด้วยทุติยาวิภัตติเป็นต้น จนถึงสัตตมีวิภัตติ ที่มีคำแปลดังได้กล่าวแล้วในบทที่ ๒ ว่าด้วยนามบท ก็นามบทเหล่านั้น จะถูกใช้ในฐานะเป็นบทกรรม ผู้ถูกทำบ้าง บทกรณะ เครื่องมือให้ทำบ้าง เป็นต้น ซึ่งจะมีลักษณะที่ขยายบทกริยาโดยตรง ที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น พุทฺโธ ธมฺมํ เทเสติ. อ.พระพุทธเจ้า ย่อมทรงแสดง ซึ่งธรรม เป็นต้น บทว่า ธมฺมํ ซึ่งธรรม เป็นนามบทที่ประกอบด้วยทุติยาวิภัตติ เป็นบทกรรม ทำหน้าที่ขยายบทกริยาว่า เทเสติ ย่อมทรงแสดง ให้เข้าใจชัดเจนว่า กำลังแสดงธรรม มิใช่แสดงอย่างอื่น ดังนี้.
         ๒). นามบทที่ประกอบด้วยปฐมาวิภัตติ ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากกัตตาตัวเดิม เรียกว่า วิกติกัตตา กัตตาตัวใหม่ ที่แปรสภาพมาจากกัตตาดัวเดิม (วิกติ ใหม่หรือผล + กัตตา ผู้กระทำกิริยา กัตตาที่เป็นผล หรือ กัตตาตัวใหม่) โดยวิกติกัตตานี้ทำหน้าที่ขยายบทกริยา โดยทำให้กริยาบางชนิดให้สมบูรณ์ คือ กริยาว่า มี, เป็น, เกิด คือให้ชัดขึ้นว่า เป็นอะไร เป็นต้น โดยเรียงไว้หน้าบทกริยา.  เช่น
         สามเณโร ภิกฺขุ โหติ. อ.สามเณร เป็นภิกษุ ย่อมเป็น.
         จากประโยคนี้ บทว่า ภิกฺขุ เป็นภิกษุ จัดเป็นวิกติกัตตา เพราะเป็นบทที่เปลี่ยนแปลงมาจาก สามเณโร อ.สามเณร อันเป็นบทกัตตาเดิม มีอธิบายว่า จากเดิมที่เป็นสามเณร ก็เปลี่ยนแปลงมาเป็นภิกษุ ดังนั้น ภิกษุ จึงเป็นผู้ที่กลายมาจากสามเณรหรือเป็นผลของกัตตาเดิม. และเป็นกัตตาด้วยเช่นกัน เพราะนับเนื่องอยู่กับกริยาคือ ขยายกริยาว่า โหติ ย่อมเป็น ให้พิเศษชัดเจนขึ้นว่า เป็นภิกษุ. สำหรับรายละเอียดทั้งหมดจะพบได้หลังจากได้ศึกษาบทขยายกริยาที่เป็นบทนามอันประกอบด้วยวิภัตติต่าง ๆ หมดแล้ว  

         ๓). นามศัพท์เฉพาะที่ประกอบด้วยทุติยาวิภัตติที่เป็นบทกรรม ซึ่งเป็นบทกรรมเพิ่มขึ้นหรือกลายมาจากบททุติยาวิภัตติที่เป็นบทกรรมอันแรกนั้นอีกหนึ่งบท เรียกว่า วิกติกรรม (วิกติ เปลียนแปลง คือเป็นผล + กรรม บทกรรม = บทกรรมที่เปลี่ยนแปลงมาจากกรรมเดิม) โดยทำให้กริยาบทได้ขอบเขตหน้าที่การกระทำเพิ่มขึ้น โดยนัยเดียวกับวิกติกัตตานั่นเอง. ลักษณะที่เพิ่มขอบเขตของกริยาบทนี้แหละ เรียกว่า บทขยายกริยา แต่ไปขยายในลักษณะที่ได้บทกรรมเพิ่มขึ้น. ดังนั้น บทที่เป็นวิกติกรรม จึงเป็นทุติยาวิภัตตยันตบทเท่านั้น (เฉพาะในกัตตุวาจก ส่วนในกรรมวาจก เป็นตติยาวิภัตติ) โดยวางตำแหน่งอยู่หน้ากริยาบท แต่อยู่หลังบทกรรม โดยนัยกับการวางบทวิกติกัตตานั่นเอง เช่น   สุวณฺณกาโร สุวณฺณํ เกยูรํ กโรติ อ.ช่างทอง ย่อมกระทำ ซึ่งทองคำ ให้เป็นทอง. จะสังเกตเห็นได้ว่า บทวิกตติกรรมนี้ ท่านเพิ่มคำว่า ให้เป็น เข้าข้างหน้าบททุติยาวิภัตติ ที่จะเป็นบทวิกติกรรม.ส่วนข้อสังเกตและความโดยพิสดารจะปรากฏในตอนที่กล่าวถึงบทนามที่ประกอบด้วยทุติยาวิภัตติ.
         ๔). ศัพท์ที่ทำหน้าที่ขยายกริยาโดยตรง เช่นเดียวกับวิเสสนบทที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม เรียกว่า กริยาวิเสสนะ ได้แก่ ศัพท์ที่ประกอบด้วยทุติยาวิภัตติ เอกวจนะและวางไว้ข้างหน้าบทกริยาเท่านั้น เช่น จิตฺตํ ลหุ อุปฺปชฺชติ. จิตฺตํ อ.จิต อุปฺปชฺชติ ย่อมเกิดขึ้น ลหุํ เร็ว. ซึ่งจะได้กล่าวรายละเอียดในตอนที่กล่าวถึงบทนามที่ประกอบด้วยทุติยาวิภัตติ เช่นกัน.

         ๒. บทขยายกริยาที่เป็นนิบาต
         เกี่ยวกับเรื่องนี้จะขอยกไปกล่าวไปไว้ในตอนที่จะศึกษากันเรื่องของอัพยยศัพท์ อันเป็นบทพิเศษชนิดหนึ่ง. สำหรับในที่นี้จะขอกล่าวเพียงให้กำหนดได้ว่า แม้บทขยายกริยาที่เป็นนิบาต ก็สามารถใช้เป็นบทขยายกริยาได้ดังอุทาหรณ์นี้  ปจฺฉา ภายหลัง เช่น ปุริโส ปจฺฉา คจฺฉติ อ.บุรุษ ย่อมไป ภายหลัง. มุสา เท็จ เช่น พาโล มุสา วทติ อ. คนพาล ย่อมกล่าว เท็จ เป็นต้น [2]โดยที่จะต้องวางไว้หน้าบทกริยาเสมอ.

- ตำแหน่งของบทขยายกริยาที่พบในประโยค
     สำหรับหัวข้อนี้จะขอยกไปกล่าวรวมกับความหมายของบทขยายกริยาทีเดียว
         บรรดาบทขยายกริยาทั้ง ๔ นี้ จะเริ่มกล่าวอย่างที่ ๑ ก่อน เพราะยังเกี่ยวข้องกับเรื่องคำนามที่ได้แสดงไว้ยังไม่สิ้นกระแสความนั้นและจัดเป็นพื้นฐานของการแปลและการแต่งภาษาบาลีทั่วไปอีกด้วย.


 ********




[1] ความจริง บทขยายกริยานี้ท่านหมายเอาเฉพาะทุติยาวิภัตติจนถึงสัตตมีวิภัตติ แต่ที่กล่าวรวมไปถึงปฐมาวิภัตติด้วย เพราะบทขยายกริยายังรวมไปถึงบทวิกติกัตตา ซึ่งเป็นบทที่ประกอบด้วยปฐมาวิภัตติ เพื่อทำหน้าที่ขยายบทประธานแต่มีความเนื่องกับบทกริยาด้วย เหตุนั้นจึงกล่าวว่า รวมทั้งปฐมาวิภัตติ ดังนี้ไว้.
[2] นิบาตเป็นศัพท์ชนิดหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในระหว่างประโยคโดยทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน เช่น เชื่อมระหว่างบทหรือประโยคเข้าด้วยกัน, บอกความหมายเช่นเดียวกับบทนามนามบ้าง, ใช้เป็นวิเสสนบทบ้าง, ใช้เป็นบทขยายกริยาบ้าง เป็นต้น. แม้จะมีความหมายเช่นเดียวกับนามนาม แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวรูปเอง และ ความหมายที่ปรากฏโดยวิภัตติทั้ง ๗ จึงเรียกนิบาตพวกนี้ว่า อัพยยศัพท์ เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยอำนาจวิภัตติ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น