วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๓๑ อาขยาต

๙ อาขยาต
         บทที่กล่าวกิริยา ชื่อว่า อาขยาตบท หมายความว่า เป็นบทที่บอกอาการซึ่งคำนามแสดงออกมา เช่น ยืน, เดิน, เป็นต้น พร้อมทั้งสภาพของบทประธาน[1]และช่วงเวลาแห่งกริยาบทที่เกิดขึ้น.  มีคำจำกัดความย่อ ๆ ว่า  กฺริยํ  อาจิกฺขตีติ อาขฺยาตํ ศัพท์ที่กล่าวกิริยา ชื่อว่า อาขยาต.
องค์ประกอบของอาขยาต
         บทอาขยาตมีส่วนประกอบทั้งหมดอยู่ ๘ ประการด้วยกันคือ
         ๑)  ธาตุ  หมายถึง คำเดิมของกริยาบท
         ๒)  วิภัตติ หมายถึง ศัพท์ที่ใช้จำแนกธาตุให้สำเร็จเป็นกริยาอาขยาตบทได้
         ๓)  กาล หมายถึง ช่วงเวลาที่กิริยาอาการนั้น ๆ เกิดขึ้น
         ๔)  บท หมายถึง เป็นเหตุให้ถึงหรือเป็นเหตุให้รู้ คือให้รู้บทที่เป็นเจ้าของกิริยา
         ๕) วจนะ หมายถึง คำพูดที่เปล่งออกมา โดยเป็นเครื่องหมายบ่งบอกให้ทราบความมากน้อยของเจ้าของกิริยา
         ๖)   บุรุษ หมายถึง บุคคลหรือสิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของกิริยานั้น ๆ.  
         ๗)  วาจก หมายถึง อาขยาตบทนั่นเอง ที่กล่าวลักษณะของประโยคโดยพาดพิงถึงบทประธานว่าเป็นผู้กระทำกิริยาเอง, เป็นผู้ถูกทำเป็นต้น ซึ่งหมายรู้ได้ด้วยปัจจัย.
         ๘)  ปัจจัย หมายถึง ศัพท์ที่ประกอบเข้าท้ายธาตุเป็นต้นเพื่อให้สำเร็จรูปเป็นกริยาบทเป็นต้น, แบ่งธาตุออกเป็นกลุ่มๆและเป็นเครื่องกำหนดประโยคที่เรียกว่า วาจก ด้วย.
         องค์ประกอบทั้ง ๘ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วมีอยู่  ๓  อย่างเท่านั้น คือ 
            ๑. ธาตุ            ๒. วิภัตติ        ๓. ปัจจัย
         ธาตุ เป็นรากของศัพท์กิริยาทั้งหมด  แม้อาขยาตบทเอง ก็เป็นบทที่กล่าวถึงกิริยาอันได้ชื่อว่า ธาตุ นี้นั่นแหละ ดังนั้น ถ้าขาดธาตุ  ก็จัดเป็นอาขยาตบทไม่ได้ เพราะไม่สามารถกล่าวกิริยาได้
         วิภัตติ เป็นศัพท์เครื่องจำแนกธาตุเหล่านั้น โดย กาล บท  วจนะ  บุรุษ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงวิภัตติ  ก็เกี่ยวโยงถึงองค์ประกอบเหล่านั้นด้วย. 
            ปัจจัย เป็นเครื่องบ่งชี้วาจก  เมื่อปัจจัยปรากฏก็เป็นเครื่องชี้ให้ทราบอาขยาตบทนี้เป็นวาจกนี้ มีกัตตุวาจก กัมมวาจกเป็นต้นได้
         ส่วนองค์ประกอบที่เหลือเป็นเครื่องแยกแยะให้อาขยาตบทมีรายละเอียดครบถ้วน  โดยต้องอาศัยองค์ประกอบทั้ง ๓ นี้เป็นหลัก





[1] คำว่า สภาพของบทประธาน โดยที่แท้แล้วได้แก่ การกะ ๒ คือ กัตตุการกะและกัมมการกะ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเป็นวาจกมีกัตตุวาจกเป็นต้นพร้อมทั้งปัจจัย, บท, บุรุษ และวจนะด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น