วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๓๖ องค์ประกอบของอาขยาต - วจนะ บุรุษ วาจก

๕. วจนะ
            วจนะ คือ คำพูดที่กล่าวถึงจำนวนของนามศัพท์ที่เป็นประธานของกิริยาอาขยาต โดยมีวิภัตติเป็นตัวบอกถึงจำนวนของนามศัพท์นั้น ๆ. ในอาขยาตมีอยู่ ๒ วจนะ คือ
         ๑. เอกวจนะ กิริยาที่กล่าวถึงประธานอันเป็นเจ้าของกิริยาคนเดียว สิ่งเดียว.
         ๒. พหุวจนะ กิริยาที่กล่าวถึงประธานอันเป็นเจ้าของกริยามากกว่าคนเดียว หรือสิ่งเดียวตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป.

******

๖. บุรุษ
         บุรุษ หมายถึง บุคคล หรือสิ่งของทั่วไป เช่น มนุษย์ เทวดา มาร พรหม สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น.      
         บุรุษ แบ่งเป็น ๓ คือ
         ๑. ปฐมบุรุษ กิริยาอาการของคนที่เราพูดถึง เจ้าของกิริยาอาการ ได้แก่ ศัพท์ทั้งหลาย ยกเว้น ตุมฺห และ อมฺห. เช่น ฝ่ายเอกวจนะว่า มนุสฺโส อ.มนุษย์ และ ฝ่าย             พหุวจนะ ว่า มนุสฺสา อ.มนุษย์ท. เป็นต้น
         ๒. มัชฌิมบุรุษ กิริยาอาการของผู้พูดด้วย เจ้าของกิริยาอาการของบุรุษนี้ ได้แก่ ตุมฺห ศัพท์ คือฝ่ายเอกวจนะว่า  ตฺวํ แปลว่า อ.ท่าน  และ ฝ่ายพหุวจนะ ว่า ตุมฺเห แปลว่า อ.ท่าน ท.
         ๓.  อุตตมบุรุษ กิริยาอาการของผู้พูดเอง เจ้าของกิริยาอาการของบุรุษนี้ ได้แก่ อมฺห ศัพท์  คือ ฝ่ายเอกวจนะว่า อหํ อ. เรา และ ฝ่ายพหุวจนะ ว่า มยํ. อ.เรา ท.
         อนึ่ง ในปฐมบุรุษนั้น ได้แก่ นามบททั้งหมดที่ประกอบด้วยฐมาวิภัตติ ส่วนในมัชฌิมบุรุษ และ อุตตมบุรุษ ได้แก่ สัพพนาม ๒ บท คือ ตุมฺห แปลว่า คุณ, ท่าน และ อมฺห แปลว่า ฉัน, ข้าพเจ้า. ที่ประกอบด้วยปฐมาวิภัตติ (รายละเอียดแห่งสัพพนามทั้งสิ้นจะพบข้างหน้า แต่เรื่องของกริยาอาขยาตบท ให้กำหนดความเพียงเท่านี้ เพราะบุรุษในอาขยาตบทหมายถึง ๒ ศัพท์ที่ประกอบด้วยปฐมาวิภัตติเท่านั้นดังกล่าว)

ขัอกำหนดในตอนนี้
         ๑. บุรุษและวจนะนั้น ต้องกำหนดให้ตรงกับบทประธานเสมอ ห้ามใช้สลับกัน
         ๒. องค์ประกอบทั้ง ๔ นี้แฝงตัวอยู่ในวิภัตตินั่นเอง

******

๗. วาจก
         ธาตุที่ประกอบด้วยวิภัตติ กาล บท วจนะ บุรุษ และปัจจัย (ที่จะกล่าวข้างหน้า)จัดเป็นวาจก คือ กล่าวหรือบ่งถึงนามบทที่เป็นประธานของกริยาบท มี ๕ อย่าง คือ
         ๑. กัตตุวาจก คือ กิริยาศัพท์ที่กล่าวถึงผู้ทำกิริยา เป็นกิริยาของผู้ทำนั้นเอง หมายถึง เป็นกิริยาศัพท์ที่กล่าวถึงประธาน โดยประธานเป็นผู้แสดงกิริยานั้นเอง
         ๒. กัมมวาจก  คือ กิริยาศัพท์ที่กล่าวถึงกรรม คือ สิ่งที่บุคคลพึงทำ ได้แก่ แสดงว่าเป็นกิริยาของกรรมนั้นเอง อธิบายว่า เป็นกิริยาศัพท์ที่กล่าวถึงประธาน โดยประธานเป็นผู้ถูกทำ      
         ๓. ภาววาจก คือ กิริยาศัพท์ที่กล่าวแต่สักว่า ความมีความเป็น เท่านั้น ไม่กล่าว กัตตาและกรรม หมายความว่า เป็นกิริยาศัพท์ที่กล่าวถึงเพียงความเป็นไปของกิริยาอาการ
         ๔. เหตุกัตตุวาจก คือ กิริยาศัพท์ที่กล่าวถึงผู้ใช้ให้คนอื่นทำ คือ แสดงว่า เป็นกิริยาของผู้ใช้ให้ผู้อื่นทำนั้น หมายความว่า เป็นกิริยาศัพท์ที่กล่าวถึงประธาน โดยประธานเป็นผู้ใช้ให้คนอื่นแสดงกิริยาอาการหรือเป็นเหตุให้คนอื่นแสดงกิริยาอาการ
        ๕. เหตุกัมมวาจก  คือ กิริยาศัพท์ที่กล่าวถึงบุคคลที่ถูกผู้อื่นใช้ให้ทำ คือ แสดงว่าเป็นกิริยาของผู้ที่ถูกใช้ให้ทำนั้น กิริยาศัพท์ที่กล่าวถึงประธาน โดยประธานเป็นตัวถูกบุคคลอื่นใช้ให้ทำ
        
         ข้อกำหนดในตอนนี้
         ๑. วาจกทั้ง ๕  นี้ เป็นสำคัญของเนื้อความทั้งปวงในการแต่งหนังสือ เพราะฉะนั้น  ผู้ศึกษา  พึงกำหนดวาจกทั้ง ๕  นี้ให้เข้าใจแม่นยำ.  
         ๒. การที่จะกำหนดวาจกได้ว่า กิริยานั้น เป็นวาจกอะไรต้องกำหนดดูปัจจัยสำหรับประกอบกับวาจกนั้น ๆ หมายความว่า ในขณะที่วิภัตติทำหน้าที่บอกบท (คือ ปรัสสบทและอัตตโนบท) บุรุษ วจนะ และกาล. ปัจจัยจะทำหน้าที่บอกบทที่เป็นประธานของประโยคว่าเป็น ผู้ทำ ผู้ใช้ให้ผู้อื่นทำ เป็นบทกรรม หรือเป็นเพียงภาวะ. สำหรับเรื่องของปัจจัยจะได้ศึกษากันในหัวข้อต่อไป.


********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น