วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559

๒๕.บทขยายประธาน - คุณนาม

๘. บทขยายประธาน
            นามบทที่จัดเป็นประธานนั้น สามารถมีบทที่ทำให้ตนมีความชัดเจนขึ้น เกี่ยวกับว่า ไม่ให้เหมือนกันบทอื่นบ้าง มีความเกี่ยวข้องกับบทอื่นบ้าง. บทที่ทำให้ชัดเจนขึ้นนั้น เรียกว่า บทขยายประธาน.
         บทขยายประธาน แบ่งออกเป็น ๓ ชนิดใหญ่ ๆ[1] คือ
         ๑. บทที่ทำให้ตนไม่เหมือนกับบทอื่น เรียกว่า วิเสสนบท
         ๒. บทที่ประกอบด้วยฉัฏฐีวิภัตติที่มีความหมายว่า แห่ง, ของ เรียกว่า สัมพันธบท
         ๓. บทที่ประกอบด้วยสัตตมีวิภัตติที่มีความหมายว่า ใน, ที่ , ใกล้ เรียกว่า อาธารบท.
         ในบทขยายประธานทั้ง ๓ ชนิดนั้น จะได้กล่าวถึง วิเสสนบทเป็นลำดับแรก

๑. วิเสสนบท
            คำว่า วิเสสนะ แปลว่า ความแตกต่าง ในที่นี้ได้แก่ บทที่ทำให้บทที่มาเกี่ยวข้องกับตนมีความแตกต่างขึ้นเกี่ยวกับว่า ทำให้บทนั้นปรากฏคุณลักษณะที่อยู่ในตนให้พิเศษขึ้น บทเช่นนี้ในภาษาไทยเรียกว่า คำวิเศษณ์ ซึ่งก็สอดคล้องกับภาษาบาลีเช่นกัน. วิเสสนบท ได้แก่ บทดังต่อไปนี้
         ๑) คุณนาม คือ นามบทที่ได้มาโดยอาศัยคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในวัตถุ อันเป็นบทที่กล่าวถึง (บทประธาน).
         ๒) สัพพนามที่ใช้เป็นวิเสสนะ สำหรับย้ำให้บทที่ตนกล่าวนั้นพิเศษขึ้น
         ๓) คำสังขยา ได้แก่ คำศัพท์ที่กล่าวถึงจำนวนนับ
         ๔) บทประเภทอื่น ๆ เช่น นามกิตก์ ตัทธิตและสมาส
         ๕) คำกริยาบางตัว ที่นิยมใช้เป็นวิเสสนะ
         ในที่นี้ จะกล่าวถึงคุณนามในข้อที่ ๑ เพราะเป็นวิเสสนบทโดยสภาพของตน จึงจัดว่า เป็นคุณนามแท้.  ส่วนวิเสสนบทที่เหลือมีความซํบซ้อนในเชิงของการใช้และการปรุงรูป คือ คำสัพพนามและคำสังขยา สามารถใช้ได้เป็นบทประธานบ้าง เป็นวิเสสนบทบ้าง . และนามกิตก์เป็นต้นเกิดจากการปรุงรูปสำเร็จขึ้นตามหลักการของบทประเภทนั้น ๆ แล้วกำหนดให้ใช้เป็นบทประธานบ้าง  เป็นวิเสสนบทบ้าง. รายละเอียดจะพบข้างหน้าเมื่อถึงวาระที่เกี่ยวข้อง
คุณนาม
            คุณนาม สำหรับประกอบกับนามบท เพื่อบอกลักษณะของนามนามนั้นให้รู้คุณสมบัติ โดย สี คุณค่า ตำแหน่ง ลักษณะ ความเป็นไป น้ำหนัก เป็นต้น  เช่น
        
โอทาต
สีขาว
เสฏฺฐ
สูงสุด
สาร
สาระ
โลหิต
สีแดง
ปคุณ
คล่องแคล่ว
สุญฺญ
ว่าง
นีล
สีเขียวคล้ำ
กุฏิล
โกง
มหนฺต
ใหญ่
กณฺห
สีดำ
ลหุ
เบา, ง่าย
วิสาล
กว้าง, มาก
อรุณ
แดงอ่อน
ติณฺห
แหลม, คม
ถูล
อ้วน
ปีต
สีเหลือง
จณฺฑ
ดุร้าย
สมตฺต
ทั้งหมด
หริณ
สีเหลืองอ่อน
อธิก
ยิ่ง, เกินไป
ปริตฺต
น้อย
หริต
สีเขียวใบไม้
ถาวร
มั่นคง
ขุทฺท
ผอม, น้อยนิด
กปิล
สีเขียวเหลือง
จล
ส่าย
สมีป
ใกล้
ปิงฺค
สีน้ำตาลแดง
ปุราณ
เก่า
สามนฺต
ใกล้
ปณฺฑุ
สีเหลืองอ่อน
นว
ใหม่
ทูร
ไกล
เสต
สีขาว
กกฺขฬ
หยาบ
ฆน
ต่อเนื่อง
รตฺต
สีแดง
อนฺต
สุดท้าย
ตนุ
ห่าง
กาฬ
สีดำ
อาทิ
เบื้องต้น
อายต
ยาว
ตมฺพ
สีแดง
โมฆ
เปล่า
ทีฆ
ยาว
ปณฺฑร
สีขาว
พฺยตฺต
ฉลาด
รสฺส
สั้น
ปาฏล
สีชมพู
ปวีณ
ฉลาด
วฏฺฏ
กลม
ธูสร
สีเทามอ
พาล
โง่
อุจฺจ
สูง
กมฺมาส
สีลาย
มุทุ
อ่อน
นีจ
ต่ำ
จิตฺร
สีด่าง
มนฺท
อ่อน
อุชุ
ตรง
สาว
สีดำคล้ำ
อจฺฉริย
อัศจรรย์
สาธารณ
ทั่วไป
ธูม
สีควันไฟ
สมฺพาธ
แออัด, แคบ
ปจฺจกฺข
แจ่มแจ้ง

ข้อบ่งใช้วิเสสนบท
         วิเสสนบททุกข้อที่กล่าวมามีข้อบ่งใช้ดังนี้
         ๑) การประกอบรูปศัพท์ ต้องมีลิงค์ วจนะ และ วิภัตติเสมอกับวิเสสยบท คือ บทที่ตนขยาย
         ๒) วิธีการวางตำแหน่งวิเสสนบท ให้วางไว้ข้างหน้าวิเสสยบทเสมอ
         ๓) วิธีการแปลเป็นภาษาไทย ให้แปลหลังจากวิเสสยบท และแม้ว่าจะมีวิภัตติเดียวกับวิเสสยบทก็ตาม แต่ก็ไม่ต้องแปลคำอายตนิบาตว่า อันว่า เป็นต้น แต่ให้มีคำแปล อย่างนี้ว่า ผู้, มี, อัน, ที่, ซึ่ง  อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความเหมาะสมต่อประเภทแห่งศัพท์ เช่น ถ้ากล่าวถึงสัตว์บุคคล ให้ใช้คำว่า ผู้ ถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมให้ใช้ มี ถ้ากล่าวถึงสิ่งที่วัตถุสิ่งของ ที่ไม่มีชีวิต ให้ใช้ ที่, ซึ่ง, อัน. (ในการแปลโดยพยัญชนะ นิยมแปลแค่ ๓ แบบเท่านั้น ว่า ผู้, มี, อัน แต่การแปลโดยความ ให้เลือกลักษณนามที่เหมาะสมได้)
         ลองมาดูตัวอย่าง
        จากนามบทที่ประกอบด้วยปฐมาวิภัตติ อันเป็นบทประธาน เมื่อนำมาประกอบกับคุณนามที่เป็นวิเสสนบทแล้วจะเป็นดังตารางดังนี้

ประธาน
วิเสสนบท
นำประกอบ
สุโร
อ. เทวดา
สกฺก
องอาจ
สกฺโก สุโร
อ.เทวดา ผู้องอาจ
นาโค
อ. ช้าง
ปสฏฺฐ
ประเสริฐ
ปสฏฺโฐ นาโค
อ. ช้าง ตัวประเสริฐ
มนุสฺโส
อ. มนุษย์
ทกฺข
ขยัน
ทกฺโข มนุสฺโส
อ. มนุษย์ ผู้ขยัน
นโร
อ. คน
ถุลฺล
อ้วน
ถุลฺโล นโร
อ.คน ผู้อ้วน
โลโภ
อ.ความอยาก
หีน
เลว
หีโน ลาโภ
อ.ความอยาก อันเลว
เปโต
อ. เปรต
นคฺค
เปลือย
นคฺโค เปโต
อ.เปรต ผู้เปลือย
มาตงฺคา
อ. ช้าง ท.
ถวิร
แข็งแรง
ถวีรา มาตงฺคา
อ.ช้าง ท.  ตัวแข็งแรง
ปิสาจา
อ.ปีศาจ ท.
จณฺฑ
ดุร้าย
จณฺฑา ปิสาจา
อ.ปีศาจ ท. ผู้ดุร้าย
ยกฺขา
อ. ยักษ์ ท.
มหนฺต
ใหญ่
มหนฺตา ยกฺขา
อ.ยักษ์ ท. ตัวใหญ่
อสฺสา
อ. ม้า ท.
เสต
ขาว
เสตา อสฺสา
อ. ม้าท. ตัวสีขาว
นิลยา
อ.บ้านท.
หริต
เขียว
หรา นิลยา
อ.บ้าน ท. หลังสีเขียว
อุรคา
อ. งู ท.
กณฺห
ดำ
กณฺหา อุรคา
อ.งู ท. ตัวสีดำ





[1] ยังมีคำขยายประธานที่นอกจากสามกลุ่มนี้อีก ตติยาวิภัตติที่ใช้อรรถวิเสสนะ แปลว่า โดย, อรรถอิตถัมภูต แปลว่า มี, อรรถสหัตถะ แปลว่า กับ , อรรถเหตุ แปลว่า เพราะ ปัญจมีและสัตตมีวิภัตติที่แปลว่า เพราะ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นบทขยายประธานแล้ว ยังสามารถเป็นบทขยายกริยาได้ด้วย ดังนั้น หากกล่าวไว้ทั้งหมดเสียตอนนี้ ก็จะพาให้ลำบากใจว่า กำหนดจดจำได้ยาก จะขอทยอยกล่าวในตอนที่กล่าวถึงความหมายแห่งวิภัตตินั้นๆ เสียทีเดียว
การแบ่งคุณนามโดยสีเป็นต้น เพื่อจะแยกให้นักศึกษาผู้เริ่มเรียนได้รู้จักคำศัพท์ที่เป็นหมวดหมู่ และได้รู้จักถึงข้อแตกต่างถึงวิเสสนบทพวกนี้กับพวกอื่น ๆ ดังนั้น การแบ่งโดยนัยนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของข้าพเจ้า . นอกจากนี้ คุณนามบางบท เกิดจากการปรุงขึ้นจากธาตุโดยเป็นกิตบทนั่นแหละ แต่ความนิยมใช้กลับเป็นคุณนาม. ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า ภาษาบาลีมีความเป็นไปเนื่องด้วยสภาวนิรุตติ สามารถกล่าวถึงสภาพของสิ่งต่าง ๆ แล้วนำมากล่าวอธิบายได้โดยใช้เพียงศัพท์เดียว ทั้งนี้โดยอาศัยรากศัพท์ (ธาตุ) ที่เป็นเหมือนกับความจริงขั้นสูงสุดของสิ่งนั้น ๆ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น