วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559

๙. สังเกตการเขียนอักษรในภาษาบาลี

หมั่นสังเกตวิธีการเขียนอักษรในภาษาบาลี
            หัวข้อนี้ เป็นการตรวจสอบความรู้เราเองเพื่อที่วันหน้าจะได้เขียนบาลีได้ไม่ผิด และเป็นเครื่องบอกได้ว่า นี้เป็นคำที่เห็นใช้ในภาษาบาลี.  หลักการเขียนคำศัพท์ในภาษาบาลีนี้ มีหลักเกณฑ์ทั่วไป ดังนี้
         ๑. การอ่านตัวสะกด
         ๑.๑. ถ้าปรากฏว่า มีจุด ( ฺ) ใต้ตัวอักษรตัวที่ไม่มีปรากฏรูปสระ นั่นแสดงว่า ตัวอักษรนั้นมีค่าเท่ากับตัวสะกดของสระ อ เหมือนอย่างในภาษาไทยที่ใช้ไม้หันอากาศ  (  ั )  เช่น ทกฺข อ่านว่า ทักขะ,  คนฺธ อ่านว่า คันธะ.  กณฺณ อ่านว่า กันนะ อย่างนี้เป็นต้น
          ถ้าปรากฏว่า มีจุด (ฺ ) ใต้ตัวอักษรตัวที่เป็นสระ เอ ( เ ) สระ อุ (  ุ )    สระ ( โ ) ซึ่งจะปรากฏรูปสระอยู่ด้วย เท่ากับว่า เป็นตัวสะกดธรรมดา หมายถึง ให้ออกเสียงเป็นตัวสะกดของ สระ เอ, อุ และ โอ ได้เลย เช่น เหฏฺฐา อ่านว่า เห็ดฐา, เสยฺโย อ่านว่า เสะ โย (ไม่อ่านว่า เสย โย), รุกฺข อ่านว่า รุกขะ,  โอฏฺฐ อ่านว่า อดถะ,เป็นต้น
         ๑.๒.  ถ้าปรากฏว่า มีนิคคหิต (  ํ ) อยู่ด้วย นิคคหิตนั้น จะกลายเป็นตัว ง สะกด และออกเสียงเป็น อัง,  อิง,  อุง (โปรดสังเกตว่า นิคคหิตจะอยู่ท้ายสระเสียงสั้น ๓ ตัว นี้เท่านั้น และวางไว้เหนืออักษรทุกตัว ) เช่น อุทกํ  อ่านว่า อุทะกัง,  สิริํ อ่านว่า สิริง,   ครุํ อ่านว่า คะรุง เป็นต้น
         ลักษณะอย่างนี้ ถ้าอธิบายตามหลักวิชาการแล้ว ก็ต้องว่า พยัญชนะตัวที่มีจุดอยู่ใต้นั้น ไม่มีสระอาศัย จึงออกเสียงไม่ได้นั่นเอง. เมื่อมันออกเสียงไม่ได้ จึงต้องออกเสียงรวมกับพยัญชนะตัวหน้าที่มีสระ อ เป็นที่อาศัยนั่นเอง เช่น ทกฺข กฺ ไม่มีสระอาศัย แต่ ท มีสระ อ อาศัย ท อ่านว่า ทะ.  กฺ ออกเสียงด้วยตัวเองไม่ได้ ให้ไปออกเสียงพร้อมกับ ท ดังนั้น  คำว่า ท จึงมี กฺ ร่วมด้วย จึงกลายเป็น ทกฺ (ทัก) ส่วนคำว่า ข ก็มีสระ อ อาศัยตามปกติ จึงอ่านออกเสียงว่า ข รวมกับ ทกฺ จึงออกเสียงเป็น ทกฺข อย่างนี้เป็นต้น แม้ในสระอื่น ๆ หรือ การสะกดของนิคคหิต ก็เทียบเคียงตามนี้ได้เหมือนกัน.
        
๒. หลักเกณฑ์การสะกดตัว.
          การวางอักษรในภาษาบาลีมีกำหนดกฏเกณฑ์ที่บังคับตายตัว ว่า พยัญชนะวรรคที่ ๑ ซ้อนหน้าพยัญชนะวรรคที่ ๑ และที่ ๒,  พยัญชนะวรรคที่ ๓ ซ้อนหน้าพยัญชนะวรรคที่ ๓ และ ที่๔ , พยัญชนะวรรคสุดท้าย คือ ที่ ๕ ซ็อนได้ทุกตัว ยกเว้น งฺ ตัวเดียวเท่านั้น ที่ไม่อาจซ้อนหน้าตัวเองได้. พระอาจารย์ภาษาบาลีมักจะผูกเป็นคำพูดสั้น ๆ ให้ท่องจำว่า 
๑ ซ้อน ๑ ซ้อน ๒.  ๓ ซ้อน ๓ ซ้อน ๔. ๕ ซ้อนได้ทุกตัว เว้นแต่ ง ซ้อนตัวเองไม่ได้.
         เราสามารถนำพยัญชนะที่ ๑ ซ้อนที่ ๑ คือ ซ้อนตัวเองได้, และซ้อนที่ ๒ . ๓ ซ้อนที่ ๓ คือตัวเองได้และซ้อนที่ ๔ ได้ และเอาพยัญชนะวรรคซ้อนตัวเองได้ จะซ้อนตัวไหนในวรรคก็ได้. ยกเว้นไว้แต่ งฺ เท่านั้น ที่ซ้อนตัวอื่นได้ แต่ไม่สามารถซ้อนตัวเองได้
         เมื่อกล่าวอย่างนี้เท่ากับว่า พยัญชนะวรรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง เช่น พยัญชนะวรรค ๑ จึงไปซ้อนที่ ๓ ไม่ได้. ที่ ๒ จะซ้อนตัวเองไม่ได้ และจะไปซ้อนผู้อื่นก็ไม่ได้ ทำนองเดียวกัน ๔ จะไปซ้อน ๔ และ ที่ ๕ ก็ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น. 
         คำว่า ซ้อน เป็นโวหารเฉพาะวงการศึกษาบาลี. ภาษาบาลี มีสำนวนพูดอยู่อย่างหนึ่ง คำว่า อยู่ข้างหน้า คือ อยู่ข้างบน. อยู่ข้างบน ก็คือ ทับกันอยู่. ทับกันอยู่ ก็คือ ซ้อนกันนั่นเอง. ถ้าพูดกันแบบตรง ๆ ชนิดไม่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกทีหนึ่ง ความก็ว่า ทำให้มันอยู่ข้างหน้านั่นแหละ.  พยัญชนะที่มีลักษณะเช่นนี้ มีชื่อเรียกว่า พยัญชนะสังโยค แปลว่า พยัญชนะที่ประกอบกัน คือ ซ้อนกัน. ลองดูวิธีการเหล่านี้กัน

         ๑. พยัญชนะวรรคตัวที่ ๑ แต่ละวรรค ซ้อนหน้าตัวเอง และ ซ้อนหน้าพยัญชนะตัวที่ ๒ ในวรรคของตน ดังนี้
         - พยัญชนะที่ ๑ ซ้อนหน้าพยัญชนะที่ ๑ นั้น ดังนี้ คือ
ก  ซ้อน  ก  เช่น  สกฺโก      
จ  ซ้อน  จ  เช่น  อจฺจิ                 
ฏ  ซ้อน  ฎ  เช่น วฏฺฏํ
ต  ซ้อน  ต  เช่น  อตฺตา      
ป  ซ้อน ป  เช่น  สปฺโป     
         -  พยัญชนะที่ ๑ ซ้อนหน้าพยัญชนะที่ ๒  นั้น ดังนี้ คือ
ก  ซ้อน  ข  เช่น  อกฺขรํ      
จ  ซ้อน  ฉ  เช่น  อจฺฉรา     
ฏ  ซ้อน  ฐ  เช่น ฉฏฺฐี
ต  ซ้อน  ถ  เช่น วตฺถํ                 
ป  ซ้อน  ผ  เช่น  ปุปฺผํ


         ๒.  พยัญชนะวรรคตัวที่ ๓  ซ้อนหน้าตัวเอง และซ้อนหน้าพยัญชนะตัวที่ ๔ ในวรรคของตน ดังนี้
         -  พยัญชนะที่ ๓ ซ้อนหน้าพยัญชนะที่ ๓ นั้น ดังนี้  คือ
ค  ซ้อน  ค  เช่น อคฺคิ                 ช  ซ้อน ช  เช่น อชฺช          ฑ  ซ้อน  ฑ  เช่น ฉุฑฺโฑ
ท  ซ้อน  ท  เช่น สทฺโท      พ  ซ้อน  พ  เช่น สพฺพํ               

- พยัญชนะที่ ๓ ซ้อนหน้าพยัญชนะที่ ๔ ดังนี้ คือ
ค  ซ้อน ฆ  เช่น  อคฺโฆ              
ช  ซ้อน  ฌ  เช่น อชฺฌาสโย 
ฑ  ซ้อน  ฒ  เช่น วุฑฺฒิ
พ  ซ้อน  ภ  เช่น  อพฺภานํ
         ๓.  พยัญชนะที่ ๕ คือ ตัวที่สุดวรรค  เว้น ตัว ง เสีย ซ้อนหน้าพยัญชนะในวรรคของตนได้ทั้ง ๕ ตัว,  ส่วนตัว ง ซ้อนหน้าพยัญชนะในวรรคของตนได้ ๔ ตัว  ซ้อนหน้าตัวเองไม่ได้ เพราะในภาษาบาลีไม่มีที่ใช้.
         - พยัญชนะที่สุดวรรค ซ้อนหน้าพยัญชนะในวรรคของตนเองได้ ดังนี้
         ง   ซ้อน  ก  เช่น  สุงฺโก              
         ง  ซ้อน  ข  เช่น  สงฺโข               
         ง   ซ้อน  ค  เช่น  องฺคํ                
         ง  ซ้อน  ฆ  เช่น  สงฺโฆ
         ญ  ซ้อน  จ  เช่น  ปญฺจ               
         ญ  ซ้อน  ฉ  เช่น  สญฺฉนฺนํ
         ญ  ซ้อน  ช  เช่น  กุญฺชโร            
         ญ ซ้อน  ฌ  เช่น วญฺฌา
         ญ  ซ้อน  ญ  เช่น  ปญฺญา  
         ณ  ซ้อน  ฏ  เช่น  กณฺฏโก          
         ณ  ซ้อน  ฐ เช่น  กณฺโฐ
         ณ  ซ้อน  ฑ  เช่น ปณฺฑิต            
         ณ  ซ้อน  ฒ  เช่น สุณฺฒิ
         ณ  ซ้อน  ณ  เช่น  กณฺโณ  
         น  ซ้อน   ต  เช่น  สนฺติ              
         น  ซ้อน  ถ  เช่น  ปนฺโถ
         น  ซ้อน   ท เช่น  จนฺโท             
         น  ซ้อน  ธ  เช่น  สนฺธิ
         น  ซ้อน  น  เช่น  สนฺโน     
         ม  ซ้อน  ป  เช่น  อนุกมฺปโก         
         ม  ซ้อน  ผ  เช่น  สมฺผสฺโส
         ม  ซ้อน  พ  เช่น  อมฺโพ             
         ม  ซ้อน  ภ  เช่น  ถมฺโภ
         ม  ซ้อน  ม  เช่น  อมฺมา

         สรุปเป็นคำพูดสั้นๆ ได้ว่า
หนึ่งซ้อนหนึ่ง ซ้อนสอง,  สามซ้อนสาม ซ้อนสี่, ห้าซ้อนได้ทุกตัวในวรรค ยกเว้น  ง  ไม่ซ้อนตัวเอง”.
         แล้วศัพท์ที่เขียนไว้อย่างนี้ กขฺค , ตฆฺฆ, นจฺช, ตถฺโท, ปผฺผ, สภฺภ จะมีไหม? ขอตอบได้เลยว่า ไม่มี เพราะผิดหลักเกณฑ์ที่ท่านได้วางไว้นั่นเอง.
         นี้เป็นการเขียนพยัญชนะวรรค ที่มีพยัญชนะซ้อนกัน. ส่วนการเขียนพยัญชนะ อวรรคที่มีพยัญชนะซ้อนกัน ก็มีกฏเกณฑ์อยู่เหมือนกัน ดังนี้
            ๑.   ย  ล  ส  ๓ ตัวนี้ ซ้อนหน้าตัวได้ เช่น เสยฺโย  สลฺลํ  อสฺโส เป็นต้น ทำหน้าที่เป็นตัวสะกด
         ๒.  ย  ร  ล  ว   ๕  ตัวนี้ ถ้าอยู่หลังพยัญชนะตัวอื่น มีหน้าที่เป็น ตัวกล้ำ โดยออกเสียงผสมกับพยัญชนะตัวอื่นมีกฏเกณฑ์ ดังนี้ คือ
         ๑).  กล้ำ กับพยัญชนะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ได้ คือ
         -  กล้ำกับพยัญชนะที่ ๑ เป็น  กฺย เช่น สกฺย,  
         -  กล้ำกับพยัญชนะที่ ๒ เป็น ขฺย เช่น อาขฺยาต, 
         -  กล้ำกับพยัญชนะที่ ๓  เป็น คฺย เช่น อาโรคฺย
         -  กล้ำกับพยัญชนะที่ ๔  เป็น ธฺย เช่น อธฺยตฺถ
         -  กล้ำกับพยัญชนะที่ ๕ เป็น นฺย เช่น นฺยาส
         ๒). เป็นตัวกล้ำกับพยัญชนะที่ ๑ และที่ ๓ ได้ คือ
         -  กล้ำกับพยัญชนะที่ ๑ เป็น ตฺร เช่น ตตฺร
         -  กล้ำกับพยัญชนะที่ ๓ เป็น พฺร เช่น พฺรูติ
         ๓).  เป็นตัวกล้ำกับพยัญชนะที่ ๑ ได้ คือ กฺล เช่น เกฺลส, ปฺล เช่น ปฺลว
         ๔).  เป็นตัวกล้ำกับพยัญชนะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓  ที่ ๔ และที่ ๕ ได้ คือ
         -  กล้ำกับพยัญชนะที่ ๑ เป็น   กฺว เช่น กฺวจิ
         -  กล้ำกับพยัญชนะที่ ๒ เป็น  ขฺว เช่น ขฺวาหํ
         -  กล้ำกับพยัญชนะที่ ๓  เป็น ทฺว เช่น เทฺว
         -  กล้ำกับพยัญชนะที่ ๔  เป็น ธฺว  เช่น สาธฺวลงฺกติ
         -  กล้ำกับพยัญชนะที่ ๕ เป็น นฺว เช่น อเนฺวติ
         ๕). ห เป็นตัวกล้ำกับพยัญชนะที่ ๕ ได้ เป็น ญฺห เช่น ปญฺหา เป็นต้น   
๓.  ในกรณีที่พยัญชนะวรรคเป็นตัวหลัง จะมีพยัญชนะอวรรค ๒ ตัวเท่านั้นที่เป็นตัวกล้ำได้  คือ  ส  หรือ  ห  ดังนี้คือ 
         -เป็นตัวหน้ากล้ำกับ ต ตัวหลัง เป็น สฺต เช่น  วิทฺธสฺต
         - เป็นตัวหน้ากล้ำกับ ม ตัวหลัง เป็น หฺม เช่น พฺรหฺม
         ๔. ระหว่างพยัญชนะอวรรคด้วยกัน มีเกณฑ์การนำและตามได้ดังนี้
         ย  นำ ตามได้  เป็น ยฺห เช่น ปสยฺห,  คยฺหติ
         ล  นำ ามได้ เป็น ลฺย เช่น กลฺยาณ
         ล  นำ ตามได้ เป็น ลฺห เช่น วุลฺหติ
         ว  นำ  ตามได้ เป็น วฺห เช่น ชิวฺหา
         ส  นำ ตามได้ เป็น สฺย เช่น อาลสฺย
         ส  นำตามได้ เป็น สฺว เช่น สฺวากฺขาต
          นำ  ว  ตามได้ เป็น หฺว ชุหฺวติ
         นำ ตามได้ เป็น อารุฬฺหติ

         ๕. ในกรณีที่มีทั้งตัวสะกดและตัวกล้ำรวมอย่ด้วยกันถึง ๓ ตัว ที่เรียกว่า ตัวควบกล้ำ พยัญชนะสองตัวแรกมักเป็นพยัญชนะวรรค ส่วนตัวท้ายจะเป็นพยัญชนะอวรรคตัวใดตัวหนึ่ง ในสามตัวนี้ คือ ย  ร ว  ดังนี้ คือ
            ย  อยู่ท้าย เป็น งฺขฺย เช่น สงฺขฺยา  ทฺธฺย เช่น พุทฺธฺยตฺถ
            ร  อยู่ท้าย เป็น นฺทฺร เช่น อินฺทฺริย
            ว อยู่ท้ายเป็น กฺขฺว เช่น จกฺขฺวาปาถ, นฺตฺวา เช่น คนฺตฺวา
         มีพิเศษบางคำที่ตัวแรกสุดเป็น ส ตัวที่สองเป็น ต และตัวสุดท้ายเป็น ร คือ สฺตฺร เช่น ภสฺตฺรา

vvv

         ที่แสดงมาให้ดูทั้งหมดนี้ ประสงค์เพียงให้เป็นคู่มือตรวจสอบดู เมื่อเวลาสงสัยเท่านั้น ไม่ต้องการให้จำได้ทั้งหมด.  หน้าที่ของเราตอนนี้ ให้ตามดูตามรู้ไปเรื่อย ๆ ก่อน ยังตามจำไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร.  ขอเพียงให้อ่านบาลีออกได้เท่านี้ก็พอ.  ต่อไปนี้จะสรุปเกณฑ์การอ่านบาลีให้ได้เสียก่อน
         วิธีอ่านคำบาลีทั่วไป
         เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ขอสรุปวิธีการอ่านคำบาลีให้ได้ ดังนี้ คือ
         ๑.พยัญชนะที่ไม่มีสระอาศัยอยู่ ให้อ่านออกเสียงสระอะ ทุกแห่ง เช่น
นโม  อ่านว่า นะโม            ภควโต  อ่านว่า ภะคะวะโต เป็นต้น.
๒. พยัญชนะที่ไม่มีสระอาศัย แต่มีตัวสะกดอยู่ข้างหลัง โดยมีจุดบอดอยู่ใต้ตัวสะกดนั้น จุดบอดนั้น มีค่าเท่ากับไม้หันอากาศอย่างเดียว เช่น
ตสฺส  อ่านว่า ตัสสะ           สมฺมา  อ่านว่า สัมมา เป็นต้น
๓.  พยัญชนะที่มีสระอาศัยอยู่ มีตัวสะกดตามหลัง โดยมีจุดบอดอยู่ใต้ตัวสะกดนั้น  ให้ออกเสียงเป็นตัวสะกดธรรมดา เช่น
พุทฺธํ   อ่านว่า พุท ธัง        ภิกฺขุ   อ่านว่า ภิกขุ เป็นต้น
๔. คำที่ประกอบด้วยพยัญชนะอวรรค จะต้องออกเสียงเป็นตัวสะกดด้วย ในขณะเดียวกันต้องออกเสียงตัวมันเองด้วย,  แต่ตัวมันเองนั้น เสียงสั้นมาก เช่น
กตฺวา                   อ่านว่า         กัต๎วา[1]  (กัดตะวา)
ตสฺมึ                     อ่านว่า         ตัส๎มิง  (ตัดสะหมิง)  เป็นต้น
๕. ถ้ามีตัว ร อยู่ท้ายตัวสะกด ให้ออกเสียงกล้ำกัน เช่น
ตตฺร อ่ารว่า ตัตตระ   พฺรหฺมานํ อ่านว่า พรามานัง
อินฺทฺริยานิ อ่านว่า อิน ทริ ยานิ (ไม่ใช่ อินทซียานิ)
         ๖.  พยัญชนะตัวใดก็ตาม มีนิคคหิต (อํ) อยู่ข้างบน ไม่มีสระอยู่ด้วย นิคคหิตนั้น มีค่าเท่ากับ อัง เช่น
         สิกฺขํ                    อ่านว่า         สิกขังเป็นต้น.
         แต่ถ้ามีสระ อิ  หรือ อุ ร่วมอยู่ด้วย นิคคหิต นั้นก็จะเป็นตัวสะกด โดยออกเสียงเป็น ง สะกด เช่น 
         ธมฺมจารึ                อ่านว่า                  ธัมมะจาริง
         ทาตุํ                    อ่านว่า                  ทาตุง
         ๗.  คำที่สะกดด้วย เอยฺย  ให้ออกเสียง เอะยะ  สั้น ๆ ตามหลักของสระเอ หรือ โอ ที่ร่วมกับกับพยัญชนะสังโยค  เช่น
         ภาเสยฺย                อ่านว่า                  ภาเสะยะ
         กเรยฺย                  อ่านว่า                  กะเระยะ
         ๘. คำใดที่สะกดด้วย อิย ให้ออกเสียง อี โดยใช้ฟันล่างและบนกดกันแล้วออกเสียง
         นิยฺยานิโก   อ่านว่า นียยานิโก
         ๙ พยัญชนะที่ออกเสียงพิเศษ บรรดาพยัญชนะ ๓๓ ตัวนั้น พยัญชนะที่ออกเสียงยากเป็นพิเศษมี ๖ ตัว คือ
         ค ออกเสียงคล้าย ก + ย๊ะ = กฺย๊ะ, ช  ออกเสียงคล้าย  จ + ย๊ะ = จฺย๊ะ
         ฑ                   ฎะ หรือ ดะ     ฏ                     ต แต่เสียงหนักกว่า
         ท                    ด๊ะ                          “           ถ แต่เสียงหนักกว่า
         พ                    บ๊ะ               ถ           “          ต แต่เอาลิ้นมาแตะฟัน
         ห                    ฮะ               ธ                    ท แต่เอาลิ้นมาแตะฟัน
        
         นี้เป็นวิธีในการอ่านคำบาลีทั่วไป ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วอ่านออกเสียงถูกต้องตามหลักที่ท่านวางไว้ ถือว่า สำเร็จการศึกษาในขั้นที่ ๑  คือมีความรู้ในเรื่องภาษาบาลีระดับขั้นการอ่านออกเสียงถูกต้องตามอักขรวิธี

vvv




[1] เครื่องหมาย ( ) ใช้แทนอักษรกล้ำกับพยัญชนะอวรรค แสดงว่า ให้อ่านเสียงกล้ำกับตัวหลัง   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น