วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559

๒๔. บทประธานคือบทที่ประกอบด้วยปฐมาวิภัตติ

ความหมายที่ใช้ในปฐมาวิภัตติ
         สิ และ โย ปฐมาวิภัตติ ใช้สื่อถึงความหมาย ๓ ประการ คือ
         ๑. ลิงคัตถะ หมายถึง เป็นความหมายของศัพท์เดิมที่เรียกว่า ลิงค์ ไม่มีความหมายพิเศษใด ๆ เพิ่มขึ้น. ในความหมายนี้ ปฐมาวิภัตติ มิได้เป็นผู้กระทำ คือ ไม่เกี่ยวข้องกับกิริยา เพียงแต่ต้องลงวิภัตตินี้ไว้ เพื่อให้ศัพท์นั้นมีความสมบูรณ์ทางไวยากรณ์ที่ว่า บทต้องเป็นคำที่ประกอบด้วยวิภัตติ. นามบทที่ประกอบด้วยปฐมาวิภัตติ ที่เรียกว่า ลิงคัตถะ นี้ ถูกเจาะจงใช้ เพื่อเป็นประธานในประโยคที่ไม่ได้ระบุถึงกัตตา คือ ผู้กระทำกิริยา หรือกัมมะ คือ ผู้ที่ถูกกระทำ เป็นต้น และยังไม่มีบทกริยามาประกอบ ทั้งนี้โดยประสงค์เพียงเพื่อแสดงความหมายของรูปศัพท์เดิมเท่านั้น. (๑) ถ้าเทียบกับภาษาไทย ประโยคที่ยังไม่กริยา ได้แก่ กลุ่มข้อความสั้น ๆ ที่กล่าวขึ้นมาลอยๆ อย่างมีระเบียบ แต่มีเนื้อความที่รู้กันได้ ไม่เจาะจงถึงผู้กระทำ เรียกว่า วลี ซึ่งไม่สมบูรณ์ ต่อเมื่อมีบทกิริยาที่แสดงผู้กระทำ สิ่งที่ถูกกระทำเป็นต้นได้ จึงจะมีความสัมพันธ์กันระหว่างบทต่าง ๆ จึงเรียกว่า ประโยค ฉะนั้น.
         ๒. กัตตา หมายถึง เป็นผู้กระทำหรือแสดงกิริยาเอง คือ ความเป็นผู้สามารถในการให้กริยานั้นสำเร็จลง เช่น คำพูดในภาษาไทยว่า บุรุษ ไป สู่บ้าน. คำว่า ไป นั่นเอง เป็นความสามารถของบุรุษที่ทำกิริยา คือ การไป ให้สำเร็จลง. ความสามารถเช่นนี้แหละ ที่เรียกว่า กระทำหรือแสดงกิริยา ซึ่งตั้งอยู่ในคำว่า บุรุษ ดังนั้น บุรุษนั่นเอง จึงได้ชื่อว่า กัตตา. เมื่อเทียบกับภาษาบาลี แม้คำว่า ปุริโส อ.บุรุษ นี้ก็มีความเป็นไปเช่นเดียวกันนั่นแล เพียงแต่เมื่อต้องการให้ ปุริส ที่เป็นศัพท์เดิมยังไม่มีหน้าที่อะไร ให้มีความหมายว่า เป็นผู้กระทำกิริยา หรือกัตตา ก็ให้ลง สิ หรือ โย ปฐมาวิภัตติ นี้นั่นเอง.
         ๓. กัมมะ หมายถึง เป็นผู้ถูกกระทำ  เพราะเข้าถึงความเป็นสิ่งที่ถูกกิริยาระบุถึงโดยฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำนั่นเอง.
         ๔. อาลปนะ หมายถึง เป็นคำที่ใช้ร้องเรียกให้รู้สึกตัว ไม่ได้เกี่ยวกับการกระทำกิริยาอย่างใด โดยเหตุนี้ จึงนำมารวมอยู่ในความหมายแห่งปฐมาวิภัตติ เพียงแค่แสดงความหมายเดิมและลงวิภัตติไว้เพื่อความสมบูรณ์ตามระบบไวยากรณ์เท่านั้น.
บทประธานต้องประกอบด้วยปฐมาวิภัตติ.
         ไม่ว่ากลุ่มของสิ่งใด ๆ มีมนุษย์เป็นต้น สิ่งใดที่เป็นสิ่งสำคัญหรือประธาน สิ่งนั้น ย่อมปรากฏอยู่ลำดับแรก ฉันใด. แม้ในกลุ่มของบทต่าง ๆ ที่คุมกันเข้าเป็นประโยค บทใดมีความสำคัญ บทนั้นย่อมเป็นที่ประสงค์กล่าวเป็นลำดับแรกฉันนั้น.(๒) ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่สังเกตได้ว่า บทใดประกอบด้วยปฐมาวิภัตติ บทนั้นย่อมเป็นบทประธาน.

ปฐมาวิภัตติที่นำมาใช้เป็นบทประธานได้
         บทที่ประกอบด้วยปฐมาวิภัตติโดยทั่วไปแล้วให้ใช้เป็นบทประธานทั้งสิ้น ยกเว้นแต่ที่ใช้ในความหมายของอาลปนะเท่านั้น. พึงเห็นการใช้ ดังนี้
         ๑. ที่มีความหมายว่า ลิงคัตถะ ให้ใช้ในประโยคที่ยังไม่มีกริยาบท หมายถึง เป็นประธานหรือเป็นเพียงแสดงว่า ศัพท์นั้นเนื่องอยู่กับบทอื่นๆ  โดยเป็นเจ้าของบ้าง หรือ ตั้งอยู่ในหรือบนสิ่งนั้นบ้าง ยังมิได้กล่าวถึงผู้กระทำกิริยาแต่อย่างใด. ประโยคเช่นนี้ มักนิยมเรียกว่า ประโยคลิงคัตถะ หมายถึง ประโยคที่กล่าวเพียงความหมายของศัพท์ ไม่ได้กล่าวถึงผู้กระทำกริยา และผู้ถูกทำเป็นต้น.
         ๒. ที่มีความหมายว่า กัตตา ให้ใช้ในประโยคที่มีกริยาบท โดยเป็นผู้กระทำกิริยา และจะต้องสอดคล้องกับกริยาบท ที่แสดงความเป็นกัตตาเช่นกัน. กัตตา แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ
         ๑) เป็นผู้กระทำเอง เรียกว่า สยกัตตา
         ๒) เป็นเหตุหรือใช้ให้ผู้อื่นทำ เรียกว่า เหตุกัตตา .
         ประโยคที่มีกัตตาในลักษณะแรก เรียกว่า ประโยคกัตตุวาจก. ส่วนอย่างหลังเรียกว่า ประโยคเหตุกัตตุวาจก.
       ๓). ที่มีความหมายว่า กัมมะ  ให้ใช้ในประโยคที่มีกริยาบทเช่นกัน โดยเป็นผู้ถูกกระทำและจะต้องสอดคล้องกับกริยาบท ที่แสดงความเป็นกัมมะเช่นกัน บทกัมมะนั้น จะกลายมาเป็นประธานของประโยคแทน. กัมมะ แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง
         ๑) เป็นผู้ถูกกัตตา (สยกัตตา) กระทำ เรียกว่า  วุตตกัมมะ.
        ๒) เป็นผู้ถูกกัตตาที่เป็นเหตุ (เหตุกัตตา) ใช้ให้กระทำ เรียกว่า การิตกัมมะ.
         ประโยคที่มีกรรมเป็นประธานในลักษณะแรกเรียกว่า ประโยคกัมมวาจก. ส่วนอย่างหลังเรียกว่า ประโยคเหตุกัมมวาจก.
         ลักษณะของประโยคเช่นนี้ จะพบได้ในภาคกริยาข้างหน้า ตอนนี้ให้จำชื่อและกำหนดลักษณะอย่างกว้าง ๆ ไปก่อน ความจะแจ่มแจ้งข้างหน้าไปตามลำดับ.

ตัวอย่างนามบทที่เป็น อ การันต์ ปุงลิงค์ที่ประกอบด้วยปฐมาวิภัตติ
สุโร
อ. เทวดา
อสุรา
อ. อสูร ท.    
นาโค
อ. ช้าง
ยกฺขา
อ. ยักษ์ ท.
มนุสฺโส
อ. มนุษย์
ปิสาจา
อ.ปีศาจ ท.
นโร
อ. คน
อุรคา
อ. งู ท.
โลโภ
อ.ความอยาก
กินฺนรา
อ. กินนร ท.
เปโต
อ. เปรต
มาตงฺคา
อ. ช้าง ท.













×vØ

         ข้อควรกำหนดในตอนนี้
         ๑) คำนามหรือที่เรียกว่า ลิงค์ นั้น เมื่อประกอบวิภัตติแล้ว จะได้ชื่อว่า นามบท เพราะสามารถให้รู้ถึงความหมายและหน้าที่ได้แล้วตามวิภัตตินั้น.
         ๒) นามบท ที่เป็นประธาน ต้องประกอบด้วยปฐมาวิภัตติทุกครั้ง และให้แปลว่า  อันว่า ( อ. ) ถ้าเป็นฝ่ายพหุวจนะ ให้แปลว่า ทั้งหลาย ( ท. ) เพิ่มเข้าไปท้ายศัพท์.
         ๓) บทประธานโดยสรุป มี ๒ อย่าง คือ
            ๑) ที่ใช้ในประโยคที่ไม่มีกริยาบท มีเพียงแต่บทที่ขยายประธานเท่านั้น.
             ๒) ที่ใช้ในประโยคที่มีกริยาบท โดยฐานะที่เป็นผู้กระทำกิริยาเอง , ผู้ใช้ให้ผู้อื่นทำ , ผู้ถูกกระทำและเป็นผู้ถูกใช้ให้กระทำ. 
         ๔) สำหรับความหมายของปฐมาวิภัตตินั้น เฉพาะที่เป็นอาลปนะ จะมีรูปคำและวิธีใช้ที่แตกต่างไปจากความเป็นประธานของประโยคมากด้วย แต่ก็มีความหมายร่วมกับอรรถอื่น ๆ ของปฐมาวิภัตติ นั่นก็คือ ใช้สื่อเพียงความหมายเดิมของศัพท์นั้น โดยหมายเอาการเรียกให้รู้ตัว จึงจัดอยู่ในปฐมาวิภัตติด้วย มิใช่แยกออกเป็นอีก ๑ วิภัตติต่างหาก.
         ๕) ส่วนบทประเภทอื่น ๆ ที่ใช้เป็นบทประธานได้ เช่น สัพพนาม สมาสนาม  กิตนามเป็นต้น ก็ต้องประกอบด้วยปฐมาวิภัตติอยู่นั่นเอง จะได้เรียนรู้เป็นตอน ๆ ไป.
      

×vØ





๑. แม้ในประโยคที่มีบทกริยาสมบูรณ์แล้ว บทกริยาเท่านั้นเป็นบทที่มีความสามารถ คือ เป็นบทที่แสดง ผู้กระทำกิริยาของประโยคนี้ได้.  ส่วนปฐมาวิภัตติทำหน้าที่เพียงส่องอรรถของลิงค์ที่ตนประกอบอยู่ ซึ่งกริยาบทได้แสดงแล้วให้ปรากฏชัดขึ้นเท่านั้นว่า มีความหมายอย่างนี้ ๆ มีรูปอย่างนี้ ๆ มีความเป็นชายเป็นต้น มีพจน์ และมีหน้าที่อย่างนี้ๆ ด้วยเหตุนี้ ปฐมาวิภัตติ ไม่ว่าจะกล่าวถึงในความหมายใด ๆ สุดท้ายแล้ว ก็ต้องใช้ในความหมายของศัพท์เดิมที่เรียกว่า ลิงคัตถะ อย่างนี้เท่านั้น. ส่วนความหมายว่า กัตตา และกัมมะ นั้น ก็เป็นเพียงความหมายที่ใช้โดยอ้อมเท่านั้น. ความสามารถของกริยาบทนี้ ก็ดี ความหมายของลิงคัตถะแบบนี้ ก็ดี นักศึกษาจะพบได้ในเรื่องกัตตุวาจก ซึ่งจัดอยู่ในภาคกริยา ข้างหน้า.

๒. นี้เป็นความคิดเห็นเฉพาะส่วนตัวของข้าพเจ้า เพราะวิเคราะห์ดูตามที่ท่านยกความสำคัญในความเป็นจุดประสงค์ของการพูด  นักศึกษาควรเก็บไว้เป็นเพียงแนวทางเพื่อหาเหตุผลที่ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้. อีกประการหนึ่ง ยังไม่พบเห็นตำราที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะเหตุใด จึงวาง  สิ และ โย วิภัตติขึ้นไว้เป็นลำดับแรก อย่างตรง ๆ เลย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น