วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559

๑๔. ๒. ลักษณะแห่งประโยคภาษาบาลี

๒. ลักษณะแห่งประโยคภาษาบาลี
         ลักษณะของประโยคภาษาบาลี ก็คงมีความเป็นไปเหมือนประโยคในภาษาทั้งหลาย ที่มีประโยคบอกเล่า กล่าวถึงเรื่องราวธรรมดา มีประโยคคำถาม ประโยคปฏิเสธ มีประโยคย่อยที่แทรกอยู่ในประโยคหลัก ในแต่ละประโยคก็จะกล่าวถึงกาลเวลาที่ประธานนั้นทำกิริยา บอกถึงจำนวนของประธาน บอกถึงว่าประธานในประโยคนั้นเป็นใคร เป็นผู้ทำกิริยาเอง หรือเป็นผู้ถูกผู้อื่นทำอีก. สาระทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับว่า นักปราชญ์เจ้าของภาษานั้น จะกำหนดคำศัพท์ให้บอกอะไรได้แค่ไหน. ภาษาบาลี มีลักษณะเหล่านี้ครบเหมือนกันกับภาษาอื่น ๆ ในโลกนี้. เพียงแต่ คำศัพท์ภาษาบาลี เมื่อถ่ายทอดออกมาสู่ภาษาอื่น ๆ แล้ว ย่อมใช้คำศัพท์ในภาษาไทยเป็นต้น ที่จะถ่ายทอดมานั้นมากกว่าเท่านั้น.
         ถ้าลองเทียบประโยคในภาษาบาลีกับภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ อย่างนี้ว่า
         บาลี      ปุริโส คามํ คจฺฉติ
            ไทย      ผู้ชาย (ปุริโส)  กำลังเดินทางไป (คจฺฉติ)  บ้าน (คามํ).
            อังกฤษ  A man is going to house.
         ก็คงจะพบอะไรที่พอบอกเราได้ อย่างนี้ คือ
         ทั้งสามภาษานี้ บอกถึงปัจจุบัน คือ ขณะนี้ บอกถึงประธานเป็นผู้ทำกิริยาเอง เป็นเอกพจน์ คือ เป็นบุคคลคนเดียว บอกความเป็นประโยคบอกเล่าเหมือนกัน. เราลองมาเทียบหาข้อที่เหมือนและต่างกันระหว่าง ๓ ภาษานี้. โดยเอาภาษาไทยเป็นตัวตั้ง
         คำว่า ผู้ชาย ตรงกับคำว่า ปุริโส ในภาษาบาลี และ A man ในภาษาอังกฤษ เป็นบทประธานในประโยค, เอกพจน์ และเป็นผู้ที่ทำกิริยา คือ การเดินทางไปด้วยตนเอง.
         คำว่า กำลังเดินทางไป ตรงกับคำว่า คจฺฉติ และ is going บอกปัจจุบันกาล
         คำว่า บ้าน ตรงกับคำว่า คามํ และ to house บ่งถึงความเป็นบทขยายกริยาว่า กำลังไปที่บ้าน.
         นี้คือสิ่งที่เหมือนกัน. ทีนี้ลองมาดูสิ่งที่แตกต่าง
      ในคำว่า ปุริโส ของภาษาบาลีที่เป็นบทประธาน บอกความเป็นเอกพจน์ได้ทันทีไม่ต้องมีคำศัพท์อื่นมาประกอบให้เห็นความเป็นเอกพจน์ หากต้องการใช้เป็นพหูพจน์ ก็เปลี่ยนเฉพาะเสียงท้าย ซึ่งเกิดจากอักษรชนิดหนึ่งที่เรียกว่า วิภัตติ (จะพบได้ข้างหน้า) เข้าผสมกับเสียงท้ายของคำ เป็น ปุริสา คำนี้ก็จะเป็นพหูพจน์ทันที โดยไม่ต้องหาคำศัพท์อื่น ๆ มาประกอบ.  อันนี้ ต่างกับภาษาไทย เมื่อพูดคำว่า ผู้ชาย คำว่า ผู้ชาย อาจหมายถึง ผู้ชาย ซึ่งมีจำนวนหลายคนก็ได้ เช่นในประโยคว่า เห็นผู้ชาย หลายคน ซึ่งต้องเพิ่มคำว่า หลายคนเข้ามาอีกหนึ่งคำ. ส่วนคำว่า A man ในภาษาอังกฤษ อาจจะคล้ายกับในภาษาบาลีตรงที่ศัพท์ภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นพหูพจน์แล้ว ก็จะมักใช้ศัพท์นี้แหละ เพียงแต่เติมตัว s ท้ายคำนั้น ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับภาษาบาลี.
         มาดูที่คำกริยาว่า คจฺฉติ (กำลังไป) ตัวนี้ เป็นกริยาที่บอกอะไรได้หลายอย่างในคำเดียวกัน (จะพบความมหัศจรรย์ของกริยาชนิดนี้ได้ต่อไป) เป็นต้นว่า บ่งถึงประธานว่า เป็นเอกพจน์ บอกถึงเวลาที่กิริยานี้เกิดขึ้นว่า เป็นปัจจุบัน บอกได้ว่า ประธานนั่นแหละเป็นผู้ทำกิริยาเอง บอกได้ว่า ประธานของบทนี้ต้องเป็นบุรุษที่ ๑ (ในภาษาไทยเป็นบุรุษที่ ๓) คือ เป็นคำนามทั่วไป ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่นอกวงสนทนา. ต่างกับภาษาไทย ถ้าจะบอกว่า ไป ให้ผู้ฟังทราบว่า กำลังไปอยู่ ณ บัดนี้ จะต้องหาคำมาเพิ่มอีกมากมาย เช่น กำลังไป, ไปอยู่ ขณะไป ดังนี้เป็นต้น จะกล่าวเพียงว่า ไป เหมือนอย่างในภาษาบาลี ไม่ได้ เพราะจะทำให้เข้าใจว่า ไปแล้ว หรือ จักไปในอนาคต ก็ได้. และคำว่า กำลังไป นี้ไม่สามารถบอกถึงผู้ทำได้ เป็นต้นเหมือนอย่างที่กริยาในภาษาบาลี เพราะไม่ว่า ใครจะไป ไปเมื่อไร มีกี่คน ก็ใช้คำว่า ไป แสดงทั้งสิ้น ไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นผู้ใดไป เพราะไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง หรือ คนที่เราพูดด้วย คนที่เราพูดถึง ก็ใช้คำว่า ไป เหมือนกัน.  ส่วนในภาษาอังกฤษ คำว่า is going ก็จะต้องเพิ่มกริยาว่า is เข้ามาและเติมอักษร ing  ท้ายคำว่า go ที่แปลว่า ไป.  ความจริงลักษณะข้อนี้คล้ายกับบาลี เพราะคำว่า go เหมือนกับเป็นรากศัพท์ ตรงกับบาลีว่า ธาตุ เมื่อต้องการให้เป็นศัพท์ชนิดใดให้ประกอบศัพท์ต่าง ๆ เข้า เช่น ing นี้ กลายเป็นปัจจุบัน เช่นเดียวกับบาลีที่ว่า คจฺฉติ มาจาก คมุ ที่เป็นธาตุ แปลว่า ไป เมื่อต้องการให้ คมุ นี้มีความหมายต่างๆ ก็เติมอักษร ที่เรียกว่า วิภัตติ ปัจจัย ต่างๆ เข้าไป
         ต่อมา บทที่ขยายกริยาว่า คามํ (บ้าน) คำนี้ ในบาลี เมื่อจะให้บทนี้เป็นบทขยายกริยาให้ชัดเจนขึ้นในแง่ที่เป็นบทกรรม แปลว่า  (ไป) ยังบ้าน ก็โดยนำอักษรชนิดหนึ่งที่เรียกว่า วิภัตติ เข้ามาประกอบท้ายศัพท์ แล้วเปลี่ยนเสียงท้ายเป็นลักษณะอย่างนี้ จาก คาม ที่แปลว่า บ้าน เป็น คามํ มีคำแปลว่า สู่บ้าน ก็จะมีความหมายอย่างที่ต้องการ ส่วนในภาษาไทย ลำพังคำว่า บ้าน  ผู้ฟังอาจเข้าใจได้หลายอย่าง เช่น ตัวบ้านเอง บนบ้าน ในบ้าน ข้างบ้าน ซึ่งบ้าน จากบ้าน ดังนี้เป็นต้นก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องเติมคำสันธาน คือ ยัง หรือ สู่ เข้ามาอีกเพื่อทำการเชื่อมคำว่า บ้าน ให้เข้ากับ บทกิริยาว่า ไป เป็น ยังบ้าน หรือ สู่บ้าน. ส่วนในภาษาอังกฤษ to house ก็เข้าทำนองเดียวกับภาษาไทย ต้องเติมคำว่า To  เข้ามาอีก จึงจะบอกได้ว่า house เป็นบทที่ขยายกริยา ไม่ใช่เป็นบทประธาน.
         นี่ยังไม่พูดถึงความเป็นชาย หญิง หรือ ไม่ใช่ชายหญิง ที่ปรากฏอยู่ในคำศัพท์นั้น ๆ (เรียกว่า ลิงค์ แปลว่า เพศ หรือ แบบ). จะเห็นข้อที่แตกต่างกันที่ชัดเจนอยู่อย่างหนึ่งระหว่างภาษาบาลีกับภาษาไทย นั่นคือ ภาษาบาลีจะมีการใช้ถ้อยคำน้อย แต่ได้ความหมายมาก. และบาลีมีความคล้ายกับภาษาอังกฤษตรงที่มีการผันคำให้ได้ความหมายต่าง ๆ โดยใช้รากศัพท์เดียวกัน.


×vØ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น