วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๔. เรียนบาลีใช้เวลานานแค่ไหน

เรียนบาลีใช้เวลานานแค่ไหน
         เมื่อตัดสินใจและเชื่อมั่นแน่วแน่แล้วว่า จะเรียนบาลี ก็ลองมาถามตัวเองอีกครั้งว่า
         ๑. จะเรียนไปเพื่ออะไร
            ๒. จะไปเรียนที่ไหน
            ๓. จะต้องเริ่มเรียนที่ตรงไหน
            ๔. จะใช้เวลาเรียนนานสักแค่ไหน ถึงจะอ่านบาลีแล้วแปลเป็นไทยได้
         ปัญหาเหล่านี้ ได้ยินเป็นประจำ โดยเฉพาะข้อแรก ขอบอกว่า ตอบได้ยากมากและตอบไปแล้วใช่ว่าแก้ปัญหาให้โดนใจคนถาม. ต้องย้อนถามก่อนว่า สรรพวิทยาการในปัจจุบันนี้ เราท่านต่างได้เรียนรู้มาแล้วทุกคน เป็นต้นว่า วิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์  สุขศึกษา เรขาคณิต ได้นำมันมาใช้ประกอบอาชีพได้ตรง ๆ ไหม เช่นว่า เอาความรู้เรื่องภูเขา ที่มีอยู่ในแบบเรียนวิชาภูมิศาสตร์ เอาความรู้เรื่องสมัยกรุงสุโขทัยในวิชาประวัติศาสตร์ เอาความรู้ว่า ต้องกินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ในวิชาสุขศึกษา เอาความรู้ว่า มุม ๔๕ องคา จัดเป็นรูปทรงที่มีความเอียง ในวิชาเรขาคณิต มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ไม่ ? แน่นอน ไม่ได้เป็นอย่างนั้น. แต่วิชาเหล่านี้แหละได้สร้างความรู้ ฝึกกระบวนการทางความคิดให้แก่พวกเราโดยที่ซึมลึก เข้าไปในจิตสันดาน โดยเมื่อได้ประสบกับเหตุการณ์บางอย่าง ความเฉลียวฉลาดที่เกิดขึ้นจากการเรียนวิชาเช่นนี้นั่นแหละ มันก็จะแสดงอานุภาพทันที. นี่ว่ากันในเรื่องทางโลก. เกี่ยวกับวิชาภาษาบาลีตรงไหน ? คงตอบแบบตรงๆ ได้เลยว่า ไม่สามารถนำวิชานี้ไปใช้ประกอบอาชีพได้เช่นเดียวกับวิชาทางโลก เพราะวิชาภาษาบาลี เป็นวิชาว่าด้วยภาษา หรือ เรื่องของการสมมุติสภาพธรรมต่าง ๆ ที่เป็นจริง ซึ่งตนได้รู้แล้วเพื่อให้คนอื่นๆ ได้รู้เช่นเดียวกับที่ตนรู้นั่นแหละ. ดังนั้น มันจึงเป็นหลักวิชาภาษาที่ใช้สื่อสารถึงสภาพธรรมทั้งหลายนั่นเอง. วิชานี้สำคัญอยู่ตรงที่ว่า เป็นภาษาที่เน้นเฉพาะธรรมะในทางพระพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก ผู้ที่ต้องการศึกษาพระธรรมให้กระจ่างชัดเจนถึงพระพุทธประสงค์ในการตรัสถึงข้อธรรมนั้น ๆ น่าจะรู้จักภาษาบาลีบ้าง เพื่อประโยชน์แก่การค้นคว้าหลักธรรมจากภาษาต้นแบบที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้. เมื่อเวลาได้รู้พระธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติให้บรรลุประโยชน์ขั้นต่าง ๆ ตามสมควรนั่นแหละ จึงเห็นอานิสงส์ของการมีความรู้ที่ดี วิชาภาษาบาลีจึงเป็นวิชาที่ทำคนให้สมบูรณ์ทางความคิด ทางสติปัญญา เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย.
         ทีนี้มาถึงปัญหาข้อต่อมา จะเรียนที่ไหนดี ตอบได้ทันทีว่า นอกจากจะไปเรียนที่วัด หรือตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แล้ว บ้านของเราเองนั่นแหละ ก็เป็นโรงเรียนบาลีได้ เพราะ การศึกษาด้วยตนเองก็พอจะทำได้ เพราะในสมัยนี้ สื่อการเรียนการสอนบริบูรณ์มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนังสือตำราเรียน เทปหรือซีดีบันทึกเสียง เพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่อยากเรียนแต่ไม่สามารถไปออกจากบ้านได้ เรียกว่า เรียนด้วยตนเอง. แต่การเรียนแบบนี้ ค่อนข้างยากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะเวลาสงสัยขึ้นมา ก็ไม่รู้จะหันไปถามใครได้ทันท่วงที เมื่อสงสัยหนักเข้า ก็พาลเลิกเรียนไปเสียเลย. อีกอย่างหนึ่ง การเรียนด้วยตนเองแบบนี้ ต้องสร้างวินัยให้ตัวเองมาก ๆ นั่นก็คือ บังคับให้ตัวเองต้องนั่งอ่านหนังสือแบบนี้อยู่ในบ้านอย่างน้อยเป็นเวลา ๒ ชั่วโมงขึ้นไป ในแต่ละวัน จะมากกว่านี้ก็ยิ่งดี ถ้าทำได้.  ดังถ้าอยากเรียนอยู่กับบ้าน ใช้ตำราไปอ่านเอง อยากจะไปเรียนที่วัดหรือมหาวิทยาลัยก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก.
         ปัญหาต่อมา จะเริ่มเรียนที่ตรงไหน ข้อนี้ตอบเป็นกลาง ๆ.  เป็นธรรมดาของการเรียนภาษาทุก ๆ ภาษา ก็ต้องเริ่มเรียนรู้ระบบหรือโครงสร้างของภาษานั้นเสียก่อน ที่เรียกว่า ไวยากรณ์ นั่นแหละ. ไวยากรณ์บาลี ก็มีลักษณะที่เหมือนกับภาษาอื่น ก็คือ มีภาคประธานและภาคแสดง (คำกริยา) เหมือนกัน จะมีต่างกันบ้างในรายละเอียด ก็คงพบได้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ.
         ปัญหาข้อสุดท้าย เป็นปัญหารวบยอด คือ ใช้เวลาเท่าไร คงต้องแยกตอบ.               การเรียนรู้แบ่งออกเป็นหลายระดับ คงพอสรุปได้อย่างนี้
         ๑. ระดับพออ่านแต่ตัวหนังสือออก แต่แปลเป็นไทยยังไม่ได้
            ๒. ระดับอ่านออกเสียงถูก รู้จักโครงสร้างของประโยคสั้น ๆ ได้ สามารถแปลข้อความสั้น ๆ ได้ แต่ยังไม่สามารถแปลหนังสือที่โบราณาจารย์แต่งขึ้นได้
            ๓. ระดับแปลหนังสือดังข้อ ๒ ได้ แต่ยังไม่สามารถแต่งหนังสือเองได้
            ๔. ระดับขั้นสูงสุด บรรลุถึงขั้นปาลิปารคู มีความสามารถทุกอย่างในกระบวนวิชาภาษาบาลี กล่าวคือ แปล เขียน แต่ง สนทนา ได้.
         ระดับ ๑ นั้น คงเป็นไปแต่ผู้ที่มีฉันทะเพียงเพื่อต้องการสวดมนต์ ทำวัตรเช้าเย็น ไหว้พระ กล่าวข้อความตามศาสนพิธีได้ โดยออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขรวิธีเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องศึกษาถึงระบบไวยากรณ์.  ถ้าเอาเพียงระดับนี้ ใช้เวลาเพียง ๑ วันเท่านั้นน่าจะเรียนจบแล้ว
         ระดับที่ ๒ ต้องเพิ่มขีดความต้องการความรู้ให้มากขึ้นอีก ๑๐ เท่า เพราะต้องมาเรียนรู้ไวยากรณ์อีกด้วย ถ้าเอาเพียงเท่านี้ ใช้เวลาอีก ๓ - ๔ เดือน ซึ่งในแต่ละวันนั้น น่าจะใช้เวลาวันละ ๒ - ๓ ชั่วโมง เพราะไวยากรณ์บาลี เมื่อเทียบกับภาษาอื่นแล้วมีน้อยกว่า แต่มีกฎเกณฑ์และกินใจความได้สมบูรณ์ครอบคลุมเนื้อหาที่ใช้ในตำราภาษาบาลีทีเดียว.  และเมื่อเอาความรู้เพียงเท่านี้ เรียนไวยากรณ์แบบย่อ ๆ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว สำหรับผู้ต้องการแต่งประโยคสั้น ๆ หรือเข้าใจเฉพาะคำศัพท์ที่เห็นอยู่ในบทสวดมนต์หรือคำกล่าวในศาสนพิธีนั้น ๆ เท่านั้น. แต่บอกไว้ก่อน แค่นี้ ไม่พอเพียง สำหรับการศึกษาธรรมะแบบเจาะลึกถึงโครงสร้างของตัวพระธรรม.
         ระดับที่ ๓ ต้องเพิ่มขีดความต้องการความรู้ให้มากขึ้นอีก ๕๐ เท่า เพราะนอกจากจะต้องมีความรู้ในเรื่องไวยากรณ์แล้ว ยังต้องรู้จักระบบความสัมพันธ์กันของบทต่าง ๆ ในแต่ละประโยคและระหว่างประโยคกับประโยคอีกด้วย. พร้อมทั้งต้องสามารถรู้ใจของพระคันถรจนาจารย์อีกด้วยว่า ท่านประสงค์ความอะไรจึงกล่าวประโยคเช่นนี้. ระดับนี้ คิดว่า ต้องใช้เวลาศึกษารวมทั้งไวยากรณ์นั้นประมาณ ๑ ปี.  ความจริง เรามีความรู้เพียงเท่านี้ ก็เพียงพอแล้วสำหรับการศึกษาธรรมะแบบเข้าไปถึงคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ถูกแต่งไว้เป็นภาษาบาลี หากว่า พุทธศาสนิกชน ผู้ต้องการรู้พระธรรมจริง ๆ ได้ศึกษาภาษาบาลีแค่เพียงเท่านี้ จะมีความรู้ความเข้าใจในศาสนธรรมได้อย่างถูกต้องทีเดียว.
         ระดับที่ ๔ ระดับนี้ดูเหมือนจะพ้นความสามารถสำหรับผู้ที่อยู่ครองเรือน ซึ่งไม่ใคร่จะได้คลุกคลีกับวงการศึกษาบาลีเท่าใดนัก แต่ที่พูดอย่างนี้มิได้ดูถูกกำลังสติปัญญาและความเพียรของท่าน. เพียงแต่กล่าวเอาโดยส่วนมากเท่านั้น. อีกประการหนึ่ง สรรพวิทยาการทางพระพุทธศาสนานั้น ณ วันนี้ที่แต่งเป็นภาษาบาลีก็มีอยู่มากมาย นับแต่คัมภีร์อรรถกถา ฎีกา เป็นต้นที่พระคันถรจนาจารย์ ได้แต่งไว้เพื่ออธิบายพระธรรมที่พระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นผู้แตกฉานในภาษาบาลีที่สุดในโลก ได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่จำเป็นเท่าใดนักที่จะแต่งคัมภีร์ขึ้นใหม่อีก. แต่ถ้าเรามีความรู้ถึงขั้น ปาลิปารคู ผู้เข้าถึงฝั่งคือถึงที่สุดของที่สุดในภาษาบาลี แล้วละก็ ความสามารถย่อมเท่าเทียมพระคันถรจนาจารย์เหล่านั้น ปรารถนาจะแต่งเมื่อใดก็แต่งได้ เข้าใจถึงเถราธิบายที่กล่าวอธิบายถึงพระไตรปิฎกได้อย่างแจ่มแจ้ง สามารถตรวจสอบตำราต่าง ๆ ที่แต่งขึ้นมาใหม่ในภายหลังเหล่านั้นได้.  ถึงขั้นนี้ไม่สามารถบอกว่าจะต้องใช้เวลาเท่าใด เพราะกว่าจะรู้เจนจบถึงภาษาบาลีระดับนี้ หลังจากผ่านระดับที่ ๓ มาแล้ว ย่อมไม่มีกำหนดว่า เพียงเท่านี้เท่านี้ก็พอๆ ดังนั้น คงต้องเรียนไปจนกว่าเข้าถึงฝั่งแห่งบาลีได้ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ในไวยากรณ์มากขึ้นกว่าขั้นที่ ๒หรือ ๓ อีกมากมาย เพราะระดับของไวยากรณ์มีความยากง่ายเป็นลำดับขึ้นไปเช่นเดียวกัน. ถ้าในชาตินี้เรียนไม่ทัน ก็อธิฏฐานจิตให้ไปเกิดในภพที่มีพระพุทธศาสนาแล้วเรียนต่อไปภพนั้น จนกว่าจะถึงความสิ้นทุกข์ แล้วไม่ต้องเรียนต่อไป.


vvv

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น