วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๒. บทนำ

บทนำ  : บาลี  ภาษาแห่งพระธรรม
         ในพระธรรม ๓ ประการ คือ พระปริยัตติธรรม พระปฏิบัติธรรมและพระปฏิเวธธรรม. และในพระธรรมทั้งสามประการนั้น พระปริยัตติธรรมย่อมเป็นพื้นฐานของพระธรรมอีก ๒ อย่างที่เหลือ. จะขอกล่าวอย่างรวบรัดทีเดียวว่า พระปริยัตติธรรมนั่นเองมีความเกี่ยวข้องกับภาษาบาลีโดยตรง ในแง่ที่ว่า เป็นธรรมที่ถูกสื่อออกมาโดยภาษาบาลีนี้. ส่วนพระปฏิบัติธรรมและพระปฏิเวธธรรม นับว่าเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากพระปริยัติธรรม.  เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงถือว่า ภาษาบาลีนี้ เป็นภาษาแห่งพระธรรม เพราะเป็นภาษาที่ใช้สื่อถึงพระธรรมทั้งสามประการ. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตัดสินใจเลือกใช้ภาษาบาลีให้เป็นภาษาแห่งพระธรรม เพราะเป็นภาษาที่เป็นกลาง ๆ ในการที่จะให้บุคคลทั่วไปในยุคนั้น ได้รับรสอมตธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ กันอย่างกว้างขวาง.
         เมื่อกล่าวถึงปริยัติธรรม ก็คงไม่พ้นจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามีไตรปิฎกเป็นต้นอยู่นั่นเอง เพราะตำราเหล่านี้ล้วนแล้วแต่บันทึกไว้ด้วยภาษาบาลี โดยเหตุนี้ แต่ก่อนนั้น บรรพชนไทย ต้องมีความรู้ในเรื่องภาษาบาลีเป็นอย่างดี จึงจะเป็นผู้มีความรู้เรื่องพระธรรมที่มาในคัมภีร์เหล่านั้นได้ดี จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นภาษาที่เป็นรากฐานของสัมมาทิฏฐิ อันเป็นเหตุให้เกิดการพัฒนาตนเองทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในปัจจุบันภพ หรือ สัมปรายภพ จนกระทั่งได้ถึงการพัฒนาอย่างสูงสุด. แม้ว่า ปัจจุบัน คัมภีร์ต่าง ๆ เหล่านี้ ได้รับการถ่ายทอดออกเป็นภาษาไทยแล้ว ก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ต้นฉบับแห่งคัมภีร์เหล่านั้นเป็นภาษาบาลี มิใช่ภาษาไทย ผู้ที่สามารถแปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทยได้ ก็ย่อมเป็นผู้มีความสามารถในภาษาบาลีนั้นเอง. ดังนั้น ไม่ว่าจะกล่าวในแง่ใด ๆ ก็ตาม ภาษาบาลี จึงเป็นภาษาแห่งพระธรรม เพราะทำให้เกิดความกระจ่างชัดในพระธรรม อันเป็นแนวปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีทุกประการดังกล่าวมานี้.
         ภาษาบาลี เป็นสัญญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา เพราะทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ หรือ เสียงเทศนา เมื่อจะประกาศตนเองออกมาให้ประจักษ์แก่ชนทั้งหลาย ก็คงหนีไม่พ้นที่จะเป็นภาษาบาลีนี้เอง อาทิ เมื่อได้ยินคำว่า นิพฺพาน คำว่า วิปสฺสนา คำว่า มคฺค คำว่า อาราม คำว่า วิหาร เป็นต้น ย่อมเป็นอันทราบได้เป็นอย่างดีว่า คำศัพท์เหล่านี้ ปรากฏใช้ในทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แม้ศาสนาอื่นจะหยิบยืมไปใช้บ้าง แต่ก็หาได้ทรงความหมายอย่างที่พระพุทธศาสนาได้ใช้ไม่.
         ไวยากรณ์ จัดเป็นหัวใจสำคัญที่จะบอกถึงระเบียบแบบแผนแห่งภาษา เพื่อสืบค้นถึงรูปคำที่มีมาแล้ว และเป็นแนวทางการสร้างรูปคำใหม่ในอนาคตต่อไป. ดังนั้น การศึกษาภาษาบาลี ก็คงหนีไม่พ้นจะต้องศึกษาระเบียบไวยากรณ์เสียก่อน เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้เข้าใจภาษาบาลี ที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบของปริยัติธรรม.
         การศึกษาภาษาบาลี หากจะศึกษาเพียงไวยากรณ์นั้นแล้ว ก็จะใช่ว่า เป็นผู้รอบรู้เรื่องพระธรรมไม่. เพราะเหตุไร ? เพราะไวยากรณ์เป็นเพียงเครื่องมือช่วยให้เข้าใจภาษาบาลี ที่เป็นเครื่องสื่อถึงพระธรรม. เมื่อตั้งใจจะศึกษาภาษาบาลี ควรที่จะตั้งใจมั่นเพื่อศึกษาพระธรรมที่ปรากฏอยู่ในตำราทางพุทธศาสนาต่าง ๆ ให้เกิดความรู้ความเห็นที่ถูกต้องตามพุทธประสงค์ด้วย. ด้วยเหตุนั้น ผู้ศึกษาไวยากรณ์บาลี ไม่ควรยุติเพียงแค่การมีเครื่องมือ แต่ควรอาศัยเครื่องมือนั้นไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมดังกล่าว ให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และควรนำความรู้ความเข้าใจนั้นมาปฏิบัติให้เกิดปัญญาที่จะนำออกได้ซึ่งกิเลส อันเป็นธรรมฝ่ายต่ำที่จะฉุดผู้ทรงไว้ให้เข้าถึงที่ต่ำได้.
         การศึกษาภาษาบาลี จึงเป็นเครื่องช่วยเหลือการปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามธรรมและเป็นประโยชน์แก่การรู้ธรรมที่มีความละเอียดลึกซึ้ง ที่ผู้ปฏิบัติยังไม่สามารถเข้าถึงได้โดยการปฏิบัติในขณะนั้น ๆอีกด้วย.  เมื่อได้ประสานความรู้จากความรู้ในไวยากรณ์บาลีแล้วนำไปศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นต้น และการปฏิบัติธรรมเข้าด้วยกัน การศึกษาทั้งหมดย่อมเป็นการศึกษาเพื่อชีวิต มีคุณทั้งแก่ตนเอง และผู้อื่น และที่สำคัญ คือ เป็นการ สืบทอดพระศาสนาให้ดำรงอยู่ตลอดกาลนาน.
         ขั้นตอนของการศึกษาภาษาบาลี เมื่อกล่าวโดยทั่วไป ควรจะเริ่มที่ไวยากรณ์เสียก่อน เพราะมีพระพุทธภาษิตที่ตรัสถึงความไม่ฉลาดในไวยากรณ์จะเป็นเหตุให้เข้าใจหรือให้พระธรรมเลือนหายไปทีเดียวโดยใจความว่า ภิกษุในพระพุทธศาสนา อาจศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกผิดพลาดได้ หากว่า ถ้อยคำมีความพิรุธบกพร่อง. ถ้าหากถ้อยคำภาษาที่พิรุธบกพร่อง ย่อมนำมาซึ่งการตีความผิดพลาดได้. นี้ก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไปจากโลกนี้.  และนักปราชญ์ก็กล่าวคติเตือนใจว่า

         โย นิรุตฺตึ น สิกฺเขยฺย            สิกฺขนฺโต ปิฏกตฺตยํ
            ปเท ปเท วิกงฺเขยฺย               วเน  อนฺธคโช ยถา

         ผู้ใดไม่ศึกษาไวยากรณ์ ผู้นั้น เมื่อศึกษาพระไตรปิฎก ก็จะสงสัยไปเสียทุกบท ดุจคชสารตาบอด เที่ยวสะเปะสะปะไปในป่า ฉะนั้น.



         ดังนั้น ไวยากรณ์บาลี จึงเป็นพื้นฐานในการศึกษาพระธรรมดังกล่าวมานี้.      อนึ่ง ก่อนแต่จะเริ่มศึกษาภาษาบาลีจริง ๆ นั้น ควรจะตั้งใจให้มั่น ยอมรับหลักการต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในหลักภาษา โดยปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย ปลูกฉันทะให้ยินดีต่อการศึกษาในภาษาบาลีนี้ให้มาก ๆ  เชื่อว่า ความสำเร็จผลคงอยู่ไม่ไกลเป็นแน่แท้.

********************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น