วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๓. ก่อนจะเรียนบาลี

ก่อนจะเรียนบาลี
         เมื่อคิดจะเรียนบาลี สร้างความเชื่อมั่นในรูปแบบของภาษาก่อนว่า
         ๑. ภาษาบาลี เป็นภาษาที่มีระเบียบแบบแผน
         ๒. ภาษาบาลี เป็นภาษาที่มีความวิเศษอยู่ในตัว
         ๓. ภาษาบาลี เป็นภาษาที่เป็นสภาวนิรุตติ สื่อถึงพระธรรม
         อย่างไร ?


    ๑. เป็นภาษาที่มีระเบียบแบบแผน ก็เหมือนกับภาษาทุกภาษาในโลกนี้ ที่ต้องมีแบบแผนในการสื่อสารกัน.

        ๒. เป็นภาษาที่มีความวิเศษอยู่ในตัว แต่ไม่ใช่เป็นภาษาที่จะเสกให้เราเป็นผู้วิเศษ หายตัวได้ ดำดินได้ แต่เป็นภาษาที่จะนำเราเข้าไปสู่ความเป็นคนวิเศษ ที่ต่างจากคนที่ไม่วิเศษต่างหาก.

         คนเราจะวิเศษก็เพราะมีความรู้ดี. ความรู้ดีนั่นเองทำให้คนวิเศษ คนวิเศษนั้น ย่อมรู้จักสอนตัวเองได้ บอกผู้อื่น ให้ตั้งอยู่ในความดีได้.

         แต่ที่กล่าวอย่างนี้มิได้หมายความว่า คนที่ไม่เคยเรียนบาลีใช่ว่าจะเป็นคนไม่วิเศษ ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ทำอย่างไร จึงจะมีความรู้ดี จำเป็นแค่ไหนต้องมาเรียนภาษาบาลี ไม่เรียนไม่ได้หรือ ?

         ขอตอบปัญหาทุกข้อรวม ๆ กันด้วยความจริงใจ. ภาษาบาลีนี้ ความจริงไม่จำเป็นต้องเรียนก็ได้ แต่ที่แนะนำเพราะเห็นว่า  ไหน ๆ จะเรียนธรรมะทั้งที น่าจะเรียนจากภาษาอันเป็นต้นแบบแห่งภาษาธรรมะนั้นเลย.  เราทั้งหลายที่เป็นคนไทย ฟังภาษาไทย พูดภาษาไทย  นับตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา ย่อมได้ยินได้ฟังภาษาไทยแทบจะทั้งหมดแต่ใครละ ที่จะคิดได้บ้างว่า ภาษาไทยที่เราภูมิใจเป็นนักหนาว่าเป็นของเรานี้ รับมาจากภาษาต่างประเทศเสียตั้งค่อน. แน่นอน เมื่อพูดอย่างนี้ ก็คิดอยู่ในใจว่า ที่ว่า ภาษาต่างประเทศ น่าจะได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน. แต่ไม่เป็นเช่นนั้น.  ยังมีอยู่อีกภาษาหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราแต่ไม่เคยสังเกตมาเลยว่า เป็นต้นแบบแห่งภาษาไทยภาษาแรกก็ว่าได้ นั่นก็คือ ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต. ภาษาทั้งสองนี้เองซึมซาบเข้ามาอยู่ในภาษาไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ภาษาสันสกฤตขอยกไว้ (อันที่จริง ภาษาสันสกฤต นับว่าได้นำมาใช้ในภาษาไทยมากที่สุด มากกว่าบาลีเสียอีก) จะขอยกตัวอย่างภาษาบาลี (อาจจะใช้อยู่ในรูปแบบของภาษาสันสกฤต) ที่เราประสบพบเห็นได้ยินกันอยู่ทุกวัน เช่น ที่รัฐสภา นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งคณะรัฐบาล ได้ให้สัญญา แก่ประชาชน เพื่อแสดงทัศนะ กรณีที่ ประเทศไทย ตอบรับสนธิสัญญา กับองค์การสหประชาชาติ เพื่อความสามัคคี ความผาสุก ของชาวโลก." จากวลี หลาย ๆ วลี ซึ่งรวม ๆ กันแล้ว เป็นประโยค ที่ได้ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างนี้ คงจะได้ยินหรือได้อ่านกันทุกวัน วันหนึ่งหลาย ๆ เที่ยว ท่านเชื่อหรือไม่ว่า คำศัพท์ต่าง ๆ ที่เห็นอยู่นี้ มีภาษาไทยที่เป็นของคนไทยแท้ ๆ อยู่ไม่กี่คำ จะแกะให้ดู อย่างคำว่า  ที่รัฐสภา คำนี้ที่เป็นไทยแท้ ๆ น่าจะเป็นคำว่า ที่ (ลักษณะคำไทยแท้ ๆ โดยมากจะเป็นคำมีพยางค์เดียว ดูลักษณะภาษาไทยแท้ในหนังสือเรื่องหลักภาษาไทย โดย อ. กำชัย ทองหล่อ ในที่นี้จะไม่พูดถึงภาษาไทยแท้ ๆ มากนัก เพราะไม่ใช่เรียนวิชาหลักภาษาไทย แต่เรียนหลักภาษาบาลี) ส่วนคำว่า รัฐสภา นี้นั่นแหละมาจากภาษาบาลีแน่นอน คือว่า รัฐ เป็นศัพท์ที่มาจากภาษาบาลีว่า รฏฺฐ ที่แปลว่า แว่นแคว้น. ส่วนคำว่า สภา เป็นศัพท์ที่มาจากภาษาบาลีว่า สภา แปลว่า สถานที่เป็นที่มาพูดพร้อมๆ กัน. รวม๒ คำ ถ้าเอาความในภาษาไทย อย่างที่เรารู้จักกัน คือ สภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ (ใครอยากดูเนื้อความทั้งหมดไปดูในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) และถ้าเอาความแบบภาษาบาลี ได้แก่ สถานที่เป็นที่มาพูดพร้อมกัน ประจำรัฐ. ในคำต่อมา นายกรัฐมนตรี คำนี้ไม่มีภาษาไทยเลย มีแต่ภาษาบาลีล้วน ๆ นั่นก็คือ นายก แปลว่า ผู้นำ, รัฐ รฏฺฐ แปลว่า แว่นแคว้น, มนตรี (อยู่ในรูปของอักษรสันสกฤต) มาจาก มนฺตี ผู้มีคำปรึกษา รวมความแบบภาษาไทยได้แก่ ตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐมนตรี แต่ถ้าเอาแบบบาลี ได้แก่ ผู้นำแห่งผู้มีคำปรึกษาให้แก่แว่นแคว้น. เอาไว้แค่นี้พอสำหรับตัวอย่าง ขอบอกแต่เพียงว่า ทุกคำที่ยกมาให้ดูนั้นล้วนแล้วแต่เป็นภาษาบาลีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำว่า คณะ, รัฐบาล, สัญญา, ประชา, ชน, ทัศนะ, กรณี, ประเทศ, สนธิ, องค์, การ, สห, ชาติ, สามัคคี, ผาสุก, โลก เหล่านี้แหละเป็นภาษาบาลี ส่วนที่จะหาคำไทยแท้แทบจะไม่พบเลย. ก็เป็นอันว่า ภาษาบาลีมีอิทธิพลต่อภาษาไทยมากนัก. เราทั้งหลายก็มีสิทธิที่จะรู้ภาษานี้ได้ทั้งนั้น อานิสงส์ทางตรงก็เข้าใจธรรมะอย่างจริงจัง อานิสงส์ทางอ้อมก็คือเป็นคนเก่งภาษาไทย.

         ทีนี้มาเข้าเรื่องกัน. ทำไมต้องตั้งใจว่า จะเป็นคนวิเศษได้ ต้องเรียนบาลี บาลีสำคัญขนาดนี้เชียวหรือ ?  สำคัญ. ประเด็นแรก เราท่านที่เป็นคนไทย เมื่อยอมรับแล้วว่า ภาษาไทยมีภาษาบาลีเป็นต้นแบบอยู่เกินครึ่ง การเรียนรู้ภาษาบาลี เท่ากับเป็นการเรียนรู้ภาษาที่เป็นมรดกทางปัญญาของบรรพชนไทยทีเดียว. ประเด็นที่สอง นี่สำคัญยิ่งนัก. ธรรมะของพุทธศาสนา ถูกบันทึกไว้ด้วยภาษาของชาวมคธ อันเป็นภาษาประจำถิ่นของเมืองมคธ อันเป็นรัฐ ๆ หนึ่งในประเทศอินเดีย ในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีอิทธิพลแผ่ไปทั่วชมพูทวีป (ประเทศอินเดีย) ในสมัยนั้น. ภาษามาคธี (ภาษาของชาวมคธ) นี้แหละ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมาใช้ประกาศพระศาสนธรรม. คงค้านว่า ทำไมไม่ทรงนำภาษาอื่น ๆ เช่น สันสกฤตมาใช้ ? ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า ประเทศอินดียยุคนั้น มีการแบ่งชนออกเป็น ๔ ชั้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ สูท บรรดาชน ๔ ชั้น กษัตริย์และพราหมณ์ ถือเป็นชนชั้นสูง,  แพศย์ ถือว่า เป็นชั้นกลาง ได้แก่ พวกพ่อค้า ประชาชนธรรมดา. ส่วนสูท ท่านกล่าวว่า เป็นคนชั้นแรงงาน หรือคนชั้นต่ำ  แม้แต่ภาษาที่ใช้ พูดจาสื่อสารกัน ในราชสำนัก และพวกพราหมณ์ ก็เป็นภาษาที่เป็นภาษาปรากฤต (แปลว่า ภาษาต้นแบบหรือต้นเค้า กล่าวกันว่า เป็นภาษาที่ใช้ติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าตามลัทธิพราหมณ์) สื่อสารกัน ก็ภาษาปรากฤตนั่นแหละ ที่เป็นภาษาสันสกฤต.  จะว่าไปแล้ว ก็ได้แก่ ภาษากลาง คือ ภาษาหลวงนั่นแหละ ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองในสมัยพุทธกาลมาก นิยมใช้เรียนกัน เฉพาะในชนชั้นสูง คือ พวกกษัตริย์ และ พราหมณ์ เพราะสรรพวิทยาการในสมัยนั้นถูกบันทึกไว้ด้วยภาษานี้อย่างแพร่หลาย. ดังนั้น หากพระพุทธองค์ทรงใช้ภาษานี้ตรัสสอนพระธรรมแล้วละก็ พระพุทธศาสนา ก็คงไม่อาจจะแพร่หลายไปยังชนทั้งหลายที่เป็นวรรณะอื่นๆ ได้ ซึ่งจะกลายเป็นศาสนาของคนชั้นสูงไป เพราะชนทั่วไปไม่ได้เรียนรู้ภาษาสันสกฤตเหมือนอย่างพวกกษัตริย์และพราหมณ์. ทีนี้ ประชาชนในรัฐมคธและรัฐโกศล ที่จัดว่าเป็นรัฐใหญ่ในสมัยนั้น ใช้ภาษามคธพูดจาสื่อสารกัน พระพุทธองค์จึงทรงใช้ภาษามคธมาประกาศพระศาสนา เพื่อมุ่งหวังอนุเคราะห์คนหมู่มากกว่านั่นเอง เพราะแม้พวกกษัตริย์และพราหมณ์ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องภาษาอยู่แล้ว อาจสามารถเรียนรู้ภาษาของประชาชนทั่วไปได้ง่าย. ดังนั้น ภาษามคธนั่นเอง จึงจัดเป็นภาษาแห่งพระพุทธศาสนา และพระเถระแต่ปางก่อนมีพระมหากัสสปะเป็นต้น ก็ได้ใช้ภาษามคธนี้แหละรักษาพระธรรมที่เรียกว่า พระพุทธวจนะ สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น ภาษามคธ นี้เอง จึงได้ชื่อว่า บาลี เพราะเป็นภาษาที่รักษาพระพุทธวจนะไว้นั่นเอง.

         อีกอย่างหนึ่ง ภาษามคธนี้ ชื่อว่า บาลี เพราะเราเหล่าพุทธศาสนิกชน ต้องรักษาไว้ เพราะเมื่อได้ศึกษาภาษานี้ เท่ากับเป็นการรักษาพระธรรมไว้ ในรูปแบบของภาษา.          คำว่า บาลี มีรากศัพท์มาจาก ปาล ที่แปลเป็นไทยว่า รักษา ได้แก่ รักษาพระพุทธวจนะไว้นั่นเอง.

         คงนึกท้วงว่า หนังสือธรรมะที่เป็นภาษาบาลีนี้ ที่แปลเป็นภาษาไทยก็มีมากอยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องเรียนบาลี ? ก็เห็นด้วย แต่อยากจะขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ถ้าอยากจะศึกษาไปจนถึงต้นเค้าเดิมเพื่อให้พบที่มาอย่างแท้จริงของศัพท์ธรรมะนั้น ๆ ซึ่งจะให้เข้าใจธรรมะข้อนั้น ๆ ได้ดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อนทีเดียว จะขอยกตัวอย่าง คำว่า บุญ หากท่านมีความเข้าใจในเรื่องของภาษา จะพบว่า คำว่า บุญ มาจากรากศัพท์เดิมว่า ชำระ. ชำระอะไร ขอตอบว่า มิได้ชำระร่างกายให้สะอาดเหมือนการอาบน้ำ. แต่เป็นการชำระจิตใจให้สะอาดหมดจดจากกิเลสต่าง ๆ. ดังนั้น บุญ จึงมีอยู่มากมาย นับได้อย่างน้อย ๓ ประการ มีการให้ทานเป็นต้น ที่เป็นเครื่องชำระกิเลสได้ตามสมควรแก่องค์นั้น ๆ. นี้เป็นเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับศัพท์ธรรมะ ซึ่งมีอยู่อีกมากมาย.  คนมีความรู้เรื่องภาษา น่าจะได้เปรียบกว่า ในเรื่องการเรียนรู้  เฉพาะเรื่องการเรียนรู้ธรรมะขั้นศึกษาเล่าเรียน อย่าพึงสำคัญว่า ได้เปรียบในการเรียนรู้ธรรมะโดยการปฏิบัติธรรม.

         ๓. เป็นภาษาที่เป็นสภาวนิรุตติ สื่อถึงพระธรรม ข้อนี้สำคัญที่สุด คือ สามารถบ่งบอกถึงรากศัพท์ซึ่งเป็นหน่วยสุดท้ายของภาษาทีเดียว. เมื่อสามารถบอกถึงรากศัพท์ได้อย่างนี้ ย่อมสามารถกล่าวถึงความเป็นไปที่แท้จริงของเนื้อความที่กำลังกล่าวถึงได้. เช่น เมื่อพูดถึงคำว่า จิตฺตํ แปลว่า จิต. ทางหลักภาษา สามารถสร้างรูปประโยคที่เป็นการจำกัดความของคำว่า จิต ได้อย่างสมเหตุสมผลกับรากศัพท์เป็นอย่างดี ทีเดียวว่า อารมฺมณํ   จินฺเตนฺตีติ จิตฺตํ.  ที่เรียกว่า จิต นั้น เพราะเป็นสิ่งที่รู้ คือ ได้อารมณ์มา ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์นั้น โดยการเห็น  ได้ยิน รับรส ได้กลิ่น รู้สึกเย็นร้อน อ่อนแข็ง ที่มากระทบ และ รู้เรื่องต่าง ๆ ที่ไม่ได้อาศัยประสาททั้ง ๕ เหล่านี้ . คำว่า จิต นี้ มีรากศัพท์ว่า จินฺต แปลว่า คิด หรือ รู้สึก นั่นเอง.

         เมื่อได้ตั้งใจ ตั้งจิตไว้ด้วยความเชื่อมั่นอย่างนี้แล้ว ก็จะสามารถนำมาสร้างความฉันทะ คือ ความประสงค์จะเรียนรู้ภาษาบาลีนี้ อันเป็นภาษาที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นภาษาที่จะทำให้เราเป็นคนที่วิเศษขึ้น.

         เมื่อปลูกฉันทะอย่างนี้ได้แล้ว ก็ต้องใช้ความพากเพียร เอาใจใส่ และสร้างความรู้ความเข้าใจในภาษานี้ให้มาก ๆ แล้วจะรู้สึกว่า ภาษานี้ แท้จริงแล้ว ไม่ยากอย่างที่คิด เรียนแล้วได้ความเข้าใจทางธรรมะมากขึ้น จิตจะสะอาด สว่าง สงบ เพราะได้ศึกษาพระธรรมจากภาษาเดิม เหมือนกับได้ยินได้ฟังจากพระโอษฐ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เฉกเช่นเดียวกับพระพุทธสาวกในครั้งพุทธกาลเลยเทียว.


vvv

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น