ความในใจ
การศึกษาในวิชาการต่าง ๆ
สิ่งที่นับว่าเป็นแรงกระตุ้นให้อยากศึกษาอย่างต้น ๆ คือ
เรียนแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้มาไปใช้ให้ตรงกับวิชานั้นๆ.
แม้พระธรรมทางพระพุทธศาสนาก็คงไม่พ้นจากกฏเกณฑ์นี้
ข้อสำคัญที่สุดในการศึกษาพระธรรม ได้แก่ นำพระธรรมไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์ในทุกระดับตั้งแต่
ทุกข์ คือ ความเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นต้น จนกระทั่งถึงชาติ ความเกิด
อันเป็นที่มาแห่งทุกข์ทั้งปวง.
จริงอยู่ หากจะแบ่งกลุ่มผู้ศึกษาพระธรรม
ในปัจจุบันนี้ ก็พอแบ่งออกตามความต้องการในการศึกษาได้หลายระดับ เช่น
ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางที่ดีสำหรับชีวิตที่สมบูรณ์ในปัจจุบันภพ,
ศึกษาเพื่อนำไปปฏิบัติธรรมชั้นสูง ๆ เช่น การเจริญสมาธิ วิปัสสนากัมมัฏฐาน,
ศึกษาเพื่อรักษาพระพุทธศาสนาไว้ ประดุจขุนคลังผู้รักษาสมบัติของพระราชาไว้ฉะนั้น. ในบรรดากลุ่มผู้ศึกษาเหล่านี้
กลุ่มผู้ศึกษาเพื่อรักษาพระพุทธศาสนาไว้ ควรจะศึกษาพระธรรมจากคัมภีร์ต่างๆ
มีพระไตรปิฎกและอรรถกถาโดยตรง
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสอบสวนหลักธรรมที่ถูกต้องเมื่อได้ฟังเทศนาจากพระเถรานุเถระหรือนักปราชญ์ต่าง
ๆ ว่า ขัดแย้งหรือถูกต้องกับหลักธรรมและหลักฐานที่มาหรือไม่อย่างไร หรือแม้กระทั่งเป็นการสอบสวนความรู้ของตนว่าจะมีความเข้าใจในนัยของเทศนาแค่ไหน.
การศึกษาจากคัมภีร์โดยตรงแบบนี้ ย่อมให้ข้อมูลแก่ผู้ศึกษาอย่างตรงที่สุด
เพราะประหนึ่งได้รับฟังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียว เพราะพระองค์ได้ฝากพระธรรมที่ปรากอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกว่าเป็นศาสดาของเหล่าพุทธบริษัทแทนพระองค์.
แต่การศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกให้เข้าใจอย่างถูกต้องครบถ้วน
มีความลี้ลับที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ สำนวนภาษาที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์นั้น
ที่มักจะสร้างความท้อแท้ให้แก่ผู้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ที่ใช้
แม้มีรูปคำที่ตรงกับภาษาไทย แต่ก็มีความหมายที่เป็นตรงกันข้ามกันทีเดียวก็มี
หรือแม้แต่สำนวนบางอย่าง ที่ไม่สามารถใช้สำนวนในภาษาไทยแสดงให้ไพเราะได้
จำต้องใช้สำนวนอย่างที่แปลออกจากประโยคต้นฉบับเท่านั้น. การศึกษาภาษาที่ใช้บันทึกพระพุทธวจนะในคัมภีร์นั้น
จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขให้เกิดความกระจ่างขึ้น.
หากผู้ศึกษามิได้ครอบครองกุญแจดอกนี้ไว้
ก็ยากที่จะเข้าไปสู่เนื้อหาสาระที่แอบแฝงอยู่ในคัมภีร์นั้นได้.
การศึกษาเรื่องของภาษาจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ต้องการความถูกต้องของคำสอนอันหมดจดนั้น.
ภาษาบาลี
อันเป็นภาษาที่ใช้บันทึกพระไตรปิฏกและคัมภีร์บริวารเหล่านั้น แม้มีการศึกษากัน
ก็แพร่หลายอยู่เฉพาะพระภิกษุสามเณรเท่านั้น สำหรับอุบาสก อุบาสิกา ผู้ใฝ่ธรรม
แม้ประสงค์จะศึกษาเล่าเรียน ก็ใช่ว่าจะเป็นกิจอันพึงทำได้โดยง่าย เหตุว่า
สถานที่ศึกษาและหลักสูตรที่เหมาะสมไม่มี.
สถานที่ศึกษายังหาได้ไม่ยากนักเมื่อจะเทียบกับหลักสูตรที่ใช้.
เพราะจะใช้หลักสูตรเดิมที่เคยใช้ศึกษากันนั้น ปรากฏว่า สถานภาพของผู้ศึกษา
ที่ยังไม่สามารถละฆราวาสวิสัยได้เต็มตัวเหมือนอย่างบรรพชิต
ไม่อาจศึกษาตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ที่ใช้วิธีการเรียนระบบไวยากรณ์ให้หมดทั้งสิ้นก่อนแล้วจึงจะมาเรียนรู้รูปประโยคที่ใช้
ต่อจากนั้นจึงเริ่มแปลคัมภีร์ต่าง ๆ แล้วจึงจะสามารถแต่งภาษาไทยเป็นภาษาบาลีได้.
แม้การศึกษาแบบนี้
ก็ต้องใช้เวลาอยู่เนิ่นนานเพื่อทำความรู้ที่สมบูรณ์ให้เกิดแก่ตน. แต่วิสัยของฆราวาสนั้น
ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะมาเรียนและท่องจำระบบไวยากรณ์ทั้งหมดได้ก่อน
แล้วจึงเรียนเป็นขั้นตอนแบบพระภิกษุสามเณรนั้น
มักจะอาศัยเวลาว่างจากการประกอบอาชีพซึ่งมีเพียงไม่มากนัก มาศึกษากัน.
เมื่อข้าพเจ้ามาหวนระลึกถึงตอนสมัยเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศภาษาแรก
คือ ภาษาอังกฤษ คุณครูผู้สอน
ก็จะสอนให้รู้จักคำศัพท์และประโยคในภาษาอังกฤษอย่างง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนก่อน
แม้เด็กน้อยอย่างข้าพเจ้า
ก็อาจสามารถรู้ภาษาอังกฤษได้เพียงชั่วสัปดาห์แรกของการเรียนทีเดียว.
และจากการที่เรียนแล้วรู้เรื่องในเยาว์วัยนั้น ก็ทำให้มีความรู้สึกสนุกในการที่จะเรียนภาษาอังกฤษในกาลต่อมา.
ครั้นได้อุปสมบท มีโอกาสศึกษาภาษาบาลี ก็ได้ศึกษาตามหลักสูตรของคณะสงฆ์
วิธีการเรียนก็เปลี่ยนไป คือ ต้องเรียนรู้ระบบไวยากรณ์ทั้งหมดภายใน ๔ เดือน
โดยไม่รู้จักรูปประโยคเลยแม้สักน้อย ต่อมาจึงเรียนพระคัมภีร์ธรรมบท
โดยแปลตามหนังสือคู่มือที่แปลไว้แล้วนั้นอีก ๒ ปี
โดยยังไม่มีความเข้าใจในการวางคำศัพท์นั้นในตำแหน่งต่าง ๆ ของประโยคเลย.
เมื่อเรียนแปลคัมภีร์พระธรรมบทแล้ว จึงจะได้เรียนรู้วิธีการวางคำศัพท์ในประโยค.
สรุปแล้วกว่าจะรู้เรื่องโครงสร้างของประโยคภาษาบาลีได้ ใช้เวลาเป็น ๔
ปีเป็นอย่างน้อย. เมื่อเทียบกับการเรียนภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศเหมือนกัน
ใช้เวลาเพียงชั่วสัปดาห์ ก็สามารถเข้าใจในโครงสร้างของประโยคได้
แล้วเกิดความอุตสาหะในการเรียนได้. ความจริง
ภาษาบาลีน่าจะสร้างศรัทธาและความเพียรได้ดีกว่าภาษาอังกฤษเป็นไหน ๆ
เพราะเป็นภาษาที่สื่อถึงพระธรรมอันสร้างความเลื่อมใสและความเพียรได้โดยตรง
แต่กลับสร้างความท้อแท้ให้แก่ผู้เรียน. เมื่อข้าพเจ้าได้มีโอกาสสอนแก่ผู้สนใจนั้น
ครั้งแรก ๆ ก็ใช้ระบบของคณะสงฆ์นั่นเองเป็นแนวทางการสอน แต่ปรากฏว่า
ไม่ได้ผลสักเท่าไร เนื่องจากว่า ผู้เรียนไม่มีเวลาที่จะท่องจำและกำหนดไวยากรณ์ได้ทั้งหมดก่อน
ขณะที่เรียนมักไต่ถามปัญหาเป็นประจำว่า บทเช่นนี้ จะปรากฏอยู่ในตำแหน่งใด
จะรู้ได้อย่างไรว่า บทนี้จะถูกใช้ในฐานะใด เป็นต้น เมื่อจะตอบปัญหา
ก็ต้องนำโครงสร้างประโยคมาประกอบอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งแทนที่จะสร้างความเข้าใจ
กลับสร้างความงุนงงเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ.
บางท่านถึงกับท้อแท้จนเลิกเรียนไปเลยก็มี.
ด้วยเหตุนี้เอง
ข้าพเจ้าจึงคิดประยุกต์วิธีการเรียนภาษาบาลีแบบใหม่
โดยนำกฏเกณฑ์ของไวยากรณ์ทั้งหมดมาทยอยศึกษา
พร้อมกับบอกรูปจริงเมื่อเวลาปรากฏอยู่ในประโยคต่าง ๆ ในคัมภีร์ธรรมบท เป็นต้น
ทั้งนี้ ก็จะไม่ทิ้งระบบการสร้างรูปคำที่เกิดจากระบบไวยากรณ์
เพราะเป็นพื้นฐานในการสร้างรูปและเป็นเหตุผลที่อธิบายถึงรูปที่ปรากฏอยู่แล้วนั้น. อย่างไรก็ตาม
มิใช่หมายความว่า ข้าพเจ้าจะล้มล้างระบบการเรียนบาลีดังกล่าว
โดยเห็นว่าเป็นระบบที่ใช้ไม่ได้ โดยที่แท้แล้ว ระบบการเรียนแบบนี้เป็นมาตรฐานและเหมาะสมที่สุดในอันที่จะอำนวยประโยชน์แก่ผู้ศึกษาในภาวะที่พร้อมพรั่งด้วยเวลาและกำลังสติปัญญา
แต่ไม่เหมาะสมกับฆราวาสผู้ขาดความพร้อมเช่นนั้น ดังนั้น
ข้าพเจ้าจึงไม่อาจรับประกันได้ว่า จะได้ผลดีเท่ากับการเรียนแบบเดิม
แต่เป็นเพียงอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น
แม้ว่าจะใช้วิธีการของการเรียนแบบภาษาอังกฤษ
แต่ระบบการสร้างรูปคำในภาษาบาลีดูเหมือนจะแตกต่างกับภาษาอื่น ๆ นั่นก็คือ แต่ละบท
ต้องมีส่วนประกอบย่อย ๆ อยู่อีกหลายประการ ไม่สามารถปรากฏอยู่แบบโดด ๆ ได้ ดังนั้น
ผู้ศึกษาจำต้องรู้ถึงที่มาของคำศัพท์พวกนี้อีกด้วย.
ข้อนี้นับเป็นความโดดเด่นของภาษาบาลีนี้
เพราะไม่จำเป็นจะต้องท่องจำคำศัพท์เป็นจำนวนมาก ๆ เพื่อการแต่งประโยคใหม่.
เพียงแต่ท่องจำแบบที่เป็นตัวอย่างไว้เพียงไม่กี่ตัว
ก็จะสามารถนำไปเทียบเคียงกับรูปศัพท์ที่ต้องการแล้วสร้างคำศัพท์ใหม่ขึ้นได้ทันที
นอกจากนี้ ภาษาบาลี จัดเป็นภาษาที่นิ่งแล้ว คือ ไม่ได้นำมาใช้เป็นภาษาพูดอีก
จะปรากฏเฉพาะในตำราพระไตรปิฏกเป็นต้นเท่านั้น เพราะเหตุนั้น
ความเปลี่ยนแปลงของคำศัพท์จะมีอยู่ไม่มากนัก
จึงเป็นการสะดวกในการจดจำกฏเกณฑ์ของภาษาได้เป็นอย่างดี.
หนังสือคู่มือ “บาลี
:ภาษาแห่งพระธรรม” เล่มนี้
ปรากฏขึ้นเพื่อเป็นคู่มือการศึกษาภาษาบาลีแนวใหม่ซึ่งเป็นเบื้องต้นเท่านั้น
รายละเอียดของกฏเกณฑ์ต่าง ๆ จึงกล่าวไว้เป็นเพียงข้อสังเกตและโดยสังเขปเท่านั้น
อีกทั้งยังผนวกแนวทางที่เป็นอัตตโนมติของข้าพเจ้าอยู่เป็นอย่างมาก โดยเหตุนี้
ผู้ศึกษาควรจะได้ศึกษาให้ละเอียดในตำราที่เป็นหลักมากกว่านี้ เช่น
คัมภีร์สัททาวิเสสต่าง ๆ หนังสือแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ เป็นต้น
และข้าพเจ้าได้หวังไว้ในใจว่า แนวทางเช่นนี้
คงพอจะช่วยบรรเทาความอึดอัดในการเรียนและขับไล่ความรู้สึกที่ว่า “เรียนเท่าไร ก็ไม่รู้เรื่องสักที” ขึ้นมาบ้าง.
ข้าพเจ้าขออุทิศบุญกุศลอันจะพึงบังเกิดจากการรวบรวมเรียบเรียงหนังสือคู่มือนี้
ให้แด่บูรพาจารย์ในทางภาษาบาลีทุกท่านในสกลโลกนี้ เทอญ
ขออนุโมทนาในการศึกษาภาษาแห่งพระธรรม
สมภพ
สงวนพานิช